คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีลงมติสั่งให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าครองชีพแก่พนักงาน จึงมีผลให้จำเลยต้องยอมรับและปฏิบัติตาม ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอันเป็นการฝ่าฝืนมติดังกล่าวและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่าย จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 8 (1) โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างของจำเลย ในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย คณะรัฐมนตรีได้มีมติสั่งให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งจ่ายค่าครองชีพแก่พนักงาน จำเลยต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีแต่จำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าค่าครองชีพของโจทก์บางส่วนขาดอายุความ โจทก์ที่ ๔๕ ถึงที่ ๗๑ เป็นผู้รับจ้างทำของ ไม่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพ โจทก์ที่ ๙ ได้รับค่าครองชีพไปแล้ว ส่วนโจทก์อื่น ๆ จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้เป็นระยะ ๆ ตามฐานะการเงินของจำเลยโดยไม่มีดอกเบี้ยตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยมิได้กำหนดค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้เงินที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ทั้งโจทก์ไม่เคยติดต่อทวงถาม จำเลยจึงไม่ได้ผิดนัด ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๔๕ ถึงที่ ๗๑ กับจำเลยได้มีข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างกันเกี่ยวกับการจ่ายค่าครองชีพ หรือจำเลยได้มีคำสั่งให้จ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ดังกล่าวอันจะถือได้ว่าโจทก์จำเลยมีนิติสัมพันธ์กันเกี่ยวกับค่าครองชีพที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่าย ส่วนโจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๘ ที่ ๑๑ ถึงที่ ๔๔ และที่ ๗๒ จำเลยได้มีคำสั่งให้จ่ายค่าครองชีพตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๒๕ เป็นต้นมา แต่สำหรับค่าครองชีพตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๒๕ ย้อนหลังไปจนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าครองชีพนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือสัญญาระหว่างกันเกี่ยวกับการจ่ายค่าครองชีพหรือจำเลยเคยมีคำสั่งให้จ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ ดังนั้น แม้จำเลยไม่จ่ายค่าครองชีพตามมติคณะรัฐมนตรีแก่โจทก์ ก็ไม่เป็นกรณีพิพาทกันเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงาน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทุกคนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ บัญญัติว่า “ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องต่อไปนี้ (๑) คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฯลฯ” จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. ๒๔๙๘ ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี การที่คณะรัฐมนตรีลงมติวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ สั่งให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าครองชีพแก่พนักงานหรือลูกจ้างชั่วคราว จึงมีผลให้จำเลยต้องยอมรับและถือเป็นระเบียบข้อบังคับที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตาม การที่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่าย จึงเป็นคดีที่เกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share