คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงที่ลูกจ้างจะชดใช้ค่าเสียหายและค่าปรับให้แก่นายจ้างในกรณีที่ลูกจ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เป็นข้อตกลงในทางแพ่งโดยทั่วไปซึ่งนายจ้างและลูกจ้างสามารถทำข้อตกลงดังกล่าวได้ และค่าปรับก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเบี้ยปรับคือเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า หากสูงเกินส่วนศาลก็ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายพร้อมค่าปรับจำนวน 5 เท่า ของราคาทรัพย์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้าง จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
แม้สัญญาค้ำประกันหมาย จ. 5 จะระบุว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทุกประการก็ตาม แต่ความรับผิดดังกล่าวหมายถึงความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานหมาย จ. 3 เท่านั้น ส่วนข้อตกลงตามหนังสือแนบท้ายสัญญาจ้างหมาย จ. 4 ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงจะชดใช้ค่าปรับอีกส่วนหนึ่งจำนวน 5 เท่าของค่าเสียหายแก่โจทก์ เพิ่งจัดทำขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหมาย จ. 5 แล้ว โดยจำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อให้ความยินยอมด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าปรับจำนวน 5 เท่า แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานของโจทก์ กระทำการทุจริตต่อหน้าที่โดยยักยอกเงินจำนวน ๙๗,๒๙๐ บาท ที่ลูกค้าชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ จึงต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมค่าปรับอีก ๕ เท่าเป็นเงิน ๔๘๖,๔๕๐ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๕๘๓,๗๔๐ บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วมจะต้องร่วมชำระเงินจำนวนดังกล่าวด้วย แต่จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามแล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๕๘๓,๗๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การที่สัญญาจ้างแรงงานระบุว่า หากผู้รับจ้างผิดสัญญาจะต้องถูกปรับ ๕ เท่า ของความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินจำนวน ๑๔๗,๒๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๔) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ใช้ให้จำเลยที่ ๒ ใช้แทนพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ประการแรกว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามหนังสือแนบท้ายสัญญาจ้างที่ว่าหากลูกจ้างกระทำการทุจริตต่อหน้าที่โดยยักยอกทรัพย์หรือลักทรัพย์ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ลูกจ้างต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นพร้อมค่าปรับอีกส่วนหนึ่งจำนวน ๕ เท่าของราคาทรัพย์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่นายจ้างนั้น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงที่ลูกจ้างจะชดใช้ค่าเสียหายและค่าปรับให้แก่นายจ้างในกรณีที่ลูกจ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างนั้น เป็นข้อตกลงในทางแพ่งโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างสามารถจะทำข้อตกลงดังกล่าวได้และค่าปรับนั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเบี้ยปรับคือเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ทำข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายพร้อมค่าปรับจำนวน ๕ เท่า ของราคาทรัพย์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์นั้นจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์เพียงใด จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ความว่า จำเลยที่ ๒ เพียงแต่ทำสัญญาค้ำประกันในการทำงานของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ลงชื่อในหนังสือแนบท้ายสัญญาจ้าง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้สัญญาค้ำประกันข้อ ๑ และข้อ ๓ จะได้ระบุไว้ว่าจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทุกประการก็ตาม แต่ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวหมายถึงความเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานข้อ ๖ เท่านั้น ส่วนข้อตกลงตามหนังสือแนบท้ายสัญญาจ้างซึ่งจำเลยที่ ๑ ตกลงจะชดใช้ค่าปรับอีกส่วนหนึ่งจำนวน ๕ เท่าของราคาทรัพย์หรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เอกสารดังกล่าวเพิ่งจัดทำขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันแล้วถึง ๒ ปีเศษ โดยจำเลยที่ ๒ มิได้ลงชื่อให้ความยินยอมด้วย ข้อตกลงที่จำเลยที่ ๑ ยินยอมชดใช้ค่าปรับแก่โจทก์นั้นเป็นการเพิ่มความรับผิดของจำเลยที่ ๑ นอกเหนือจากสัญญาจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๒ ฉะนั้น จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์เฉพาะค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ก่อให้เกิดขึ้นจำนวน ๙๗,๒๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เท่านั้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๙๗,๒๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share