คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 927/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องธนาคารจำเลยที่ 1 ผู้จัดการและสมุห์บัญชีธนาคารสาขาจำเลยที่ 4, ที่ 5 ว่ายักยอกเงินฝากของโจทก์ ศาลอาญาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 ปลอมเอกสาร และยินยอมให้เบิกเงินไปตามเอกสารปลอมและเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สาม การสันนิษฐานของผู้ชำนาญการเป็นไปได้หลายนัยฟังเป็นยุติอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ทั้งจำเลยนำสืบโต้แย้งฟังได้ว่าได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตใจ ไม่ได้ปลอมใบขอซื้อเช็คหรือเช็คแต่อย่างใดพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์การที่โจทก์มาฟ้องคดีแพ่งในเงินฝากรายเดียวกันนี้ อ้างว่าจำเลยที่ 1กับพวกจงใจหรือประมาทเลินเล่อจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ให้แก่ผู้นำเช็คมาเบิกเงินไปเป็นเหตุให้เงินฝากของโจทก์ขาดหายไป จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวนอกจากจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นแล้วในการพิพากษาคดีแพ่ง ศาลยังจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญานั้นว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตใจโดยไม่มีการปลอมใบขอซื้อเช็คหรือเช็คแต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นกรรมการมีอำนาจจัดการแทนจำเลยที่ 1 สาขาห้วยขวาง โจทก์เป็นลูกค้าจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาห้วยขวางเลขบัญชีที่ 763 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โจทก์นำเงินเข้าฝากและถอนออกจากธนาคารดังกล่าวด้วยดีตลอดมาจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2521 โจทก์มียอดเงินฝากในธนาคารจำเลยประมาณเจ็ดแสนบาทเศษ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2521 โจทก์ออกเช็คธนาคารจำเลยสั่งจ่ายเงิน 60,000 บาท ชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อ ครั้นวันที่ 1 มีนาคม 2521 ผู้ทรงเช็คนำเช็คดังกล่าวมาคืนแจ้งว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ติดต่อสอบถามจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 บอกว่าเงินของโจทก์ได้เบิกไปจากธนาคารเหลือไม่พอจ่ายพร้อมกับนำเช็คที่ได้เบิกเงินจำนวน 5 ฉบับมาให้โจทก์ดู ปรากฏว่ามิใช่ลายมือชื่อของโจทก์และไม่เหมือนกับตัวอย่างลายเซ็นชื่อที่โจทก์ให้ไว้กับธนาคารจำเลยวันที่ 21 มีนาคม 2521 โจทก์จึงฟ้องจำเลยฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ต่อศาลอาญา ตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4686/2521 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา การที่จำเลยทั้งห้าได้บังอาจร่วมกันจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ให้แก่ผู้นำเช็คมาเบิกเงินโดยไม่ได้ตรวจดูก่อนว่าใบเบิกเช็คนั้นใช่ที่ธนาคารจำเลยจ่ายให้โจทก์ไว้ใช้เบิกเงินและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คใช่ของโจทก์หรือไม่ เป็นเหตุให้เงินฝากของโจทก์ขาดบัญชีไป 710,240 บาท จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2521 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 39,237 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน710,240 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งห้าให้การว่า เช็คทุกฉบับที่จำเลยใช้หักเงินจากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์เป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเอง และโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ว่าด้วยการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมิได้เสียหายแต่ประการใด ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้ระบุว่าเช็คฉบับใดเป็นเช็คปลอม และโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาทแทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ใช้เงิน 710,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม2521 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องให้ใช้39,237 บาทเท่าที่โจทก์ขอ ให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลโดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาทแทนโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2517 โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันไว้กับธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาห้วยขวาง หมายเลขบัญชีที่ 763 เมื่อเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ 2521 ยอดเงินฝากของโจทก์มีประมาณเจ็ดแสนบาทเศษการเบิกเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 โจทก์ใช้เช็คที่ธนาคารจำเลยที่ 1 มอบให้มา หากจะนำเข้าบัญชีก็ใช้สมุดเงินสดที่ธนาคารจำเลยที่ 1 มอบให้ โจทก์ได้มอบตัวอย่างลายมือชื่อให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ไว้ ในสมุดเช็คมีใบขอซื้อเช็คแทรกอยู่ด้วยหนึ่งฉบับ โจทก์ได้เบิกเงินและนำเงินเข้าฝากในบัญชีของโจทก์เรียบร้อยด้วยดีตลอดมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2521 โจทก์สั่งจ่ายเช็ค 60,000 บาท ให้นางสาวสมประสงค์ อุ่นเรือน เพื่อชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2521 นางสาวสมประสงค์นำเช็คดังกล่าวมาคืนให้โจทก์บอกว่าธนาคารจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างเหตุว่าให้ติดต่อผู้สั่งจ่ายโจทก์ไปติดต่อสอบถามจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาห้วยขวาง จำเลยที่ 4 เรียกจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีนำหลักฐานเช็ค 5 ฉบับและใบซื้อเช็คมาให้โจทก์ดูโดยบอกว่ามีผู้มาเบิกเงินไปเงินจึงเหลือไม่พอจ่าย โจทก์ตรวจดูแล้วเห็นว่าเช็คเหล่านั้นไม่ใช่เช็คที่ธนาคารจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ไว้ใช้สำหรับเบิกเงินลายเซ็นผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ของโจทก์ และใบขอซื้อเช็คก็มิใช่ของโจทก์ ใบขอซื้อเช็คฉบับของโจทก์ยังอยู่ในเล่มสมุดเช็คที่ธนาคารจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ไว้ โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ต่อศาลอาญาตามคดีหมายเลขดำที่ 4686/2521 กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ได้สมคบกันยักยอกเบียดบังเอาเงินฝากของโจทก์ไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต แต่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องโจทก์

จำเลยที่ 1 นำสืบว่า เมื่อโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารจำเลยที่ 1 แล้ว ก็มีการเบิกเงินและนำเงินเข้าฝากหลายครั้งปรากฏตามบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย ล.3 เมื่อมีผู้นำเช็คมาเบิกเงินสดจากธนาคารจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ธนาคารได้ตรวจเช็คนั้นโดยตรวจวันที่ที่ลงในเช็ค จำนวนเงิน และลายเซ็นของผู้สั่งจ่าย เฉพาะลายเซ็นผู้สั่งจ่ายปรากฏว่าเหมือนกับลายเซ็นตัวอย่างของโจทก์ที่มอบให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ไว้ การจ่ายเงิตามเช็คทั้งห้าฉบับจึงเป็นการถูกต้องแล้ว มิได้เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด

พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามูลกรณีเงินฝากของโจทก์รายเดียวกันนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2521 กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ยักยอกเบียดบังเอาเงินฝากจำนวน 711,450 บาทของโจทก์ไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353, 354, 83 ในคดีอาญาดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวกนำสืบโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่าจำเลยได้ปลอมเอกสารและยินยอมให้เบิกเงินไปตามเอกสารปลอมและเบียดบังเอาเงินเป็นของตนหรือบุคคลที่สามหรือไม่และจำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตใจหรือไม่ ซึ่งในประเด็นที่โต้เถียงกันดังกล่าว ศาลอาญาได้วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 ปลอมเอกสารและยินยอมให้เบิกเงินไปตามเอกสารปลอมและเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สาม การสันนิษฐานของผู้ชำนาญการเป็นไปได้หลายนัย ฟังเป็นยุติอย่างหนึ่งอย่างใดได้หรือไม่ทั้งจำเลยนำสืบโต้แย้งฟังได้ว่าได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตใจ ไม่ได้ปลอมใบขอซื้อเช็คหรือเช็คแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้องโจทก์คดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4686/2521 คดีหมายเลขแดงที่ 11505/2522 ของศาลอาญา การที่โจทก์นำคดีแพ่งนี้มาฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ในเงินฝากของโจทก์รายเดียวกันนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจงใจหรือประมาทเลินเล่อจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ให้แก่ผู้นำเช็คมาเบิกเงินไปเป็นเหตุให้เงินฝากขอโจทก์ขาดหายไป จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว นอกจากจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีอาญานั้นแล้ว ในการพิพากษาคดีแพ่งนี้ศาลยังจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญานั้นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกจ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตใจโดยไม่มีการปลอมใบขอซื้อเช็คหรือเช็คแต่อย่างใดฟ้อของโจทก์ในคดีแพ่งนี้จึงตกไปรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังโจทก์ฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความสองศาลเป็นเงิน 10,000 บาท

Share