คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 926/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับมอบอำนาจตายก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หนังสือมอบอำนาจย่อมระงับสิ้นไปหรือหมดสภาพไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 826 จำเลยร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินทราบแล้วว่าผู้มอบอำนาจตายแต่ยังดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจนเสร็จสิ้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการปฏิบัติราชการในหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยร่วมเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมที่ดินจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
กรมที่ดินย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และแบ่งแยกโฉนดโดยมิชอบ โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ระงับสิ้นไปแล้วเพราะผู้มอบอำนาจตายได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา61
แม้จำเลยที่ 3 จะซื้อที่พิพาทมาโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันทางทะเบียนและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตก็ตาม แต่โจทก์ก็รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 3 โดยสุจริตเช่นกัน เมื่อกรมที่ดินสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาทและโฉนดที่พิพาท เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริงกรณีเช่นนี้ถือว่า โจทก์ถูกรอนสิทธิ์ จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 5359 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย เนื้อที่ 86 4/10ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ขายให้แก่โจทก์ในราคา 260,000 บาท จดทะเบียนโอนกัน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวและรายการจดทะเบียนทุกรายการตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งไม่ชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันกระทำให้โจทก์หลงผิดซื้อทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงิน260,000 บาท ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากเงินดังกล่าวเป็นเงิน200,000 บาท ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือมิฉะนั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินรวม460,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 5359 เป็นโฉนดที่ดินที่แยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 94 ซึ่งรายการจดทะเบียนประเภทให้เฉพาะส่วนผิดพลาดเนื่องจากผู้รับโอนมิได้มีสิทธิรับโอนตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้รับโอนต่อมาไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามรายการจดทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามความจริง จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้โจทก์หลงผิดในการซื้อที่ดินตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่าซื้อทรัพย์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจำเลยที่ 3 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทและรายการจดทะเบียน เพราะการออกโฉนดเป็นไปโดยชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 ขอให้เรียกนายบุญเลิศเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ความเสียหายเกิดจากจำเลยที่ 1 กับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินและรายการจดทะเบียนเพราะขาดความรอบคอบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าที่ดิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายคำปัน นางฟองแก้ว เป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ที่พิพาทตามโฉนดเลขที่ 5359 พร้อมตึกแถว แยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่94 นางฟองแก้วตายก่อนนายคำปัน นายคำปันทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดมุงเมือง ภายหลังจากนายคำปันตายแล้ว ทายาทของนางฟองแก้ว ที่มีสิทธิรับมรดกคงมีแต่นายบุญทา ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน นายม้วนผู้จัดการมรดกของนายคำปัน จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 94 ให้แก่วัดมุงเมือง แต่เจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมให้ไม่ได้ เพราะมีชื่อนางฟองแก้วถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย คณะกรรมการวัดมุงเมืองกับนายบุญทาตกลงกันว่า ให้นายบุญทายกที่ดินส่วนของนางฟองแก้วให้แก่วัดมุงเมือง แล้ววัดมุงเมืองจะยกที่นาให้แก่นายบุญทา นายบุญทาทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทวีไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามข้อตกลง แต่นายบุญทาถึงแก่กรรมเสียก่อนเจ้าพนักงานที่ดินใช้ใบมอบอำนาจดังกล่าวจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของนางฟองแก้ว และในเวลาต่อมาได้โอนทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ขายต่อให้โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 ตั้งกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของนายบุญทา ที่รับมรดกจากนางฟองแก้วเป็นต้นไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 94 กับให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 5359
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยร่วมรู้อยู่แล้วว่านายบุญทาผู้มอบอำนาจตายก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หนังสือมอบอำนาจย่อมระงับสิ้นไปหรือหมดสภาพไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 826 แต่จำเลยร่วมก็ยังดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จนเสร็จสิ้น เห็นว่า จำเลยร่วมได้กระทำหรือปฏิบัติราชการในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนบกพร่องฝ่าฝืนกฎหมายดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นที่เสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่า เป็นผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยร่วมเป็นเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1ได้ทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 7 ให้อำนาจจำเลยที่1 สั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินได้หากปรากฏว่า ได้กระทำไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนมรดกรายนายบุญทาซึ่งรับมรดกจากนางฟองแก้วในที่ดินโฉนดเลขที่ 94 คลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายทวี ผู้รับมอบอำนาจจากนายบุญทา ได้นำหนังสือมอบอำนาจมาดำเนินการจดทะเบียนรับโอนมรดกเมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ระงับสิ้นไป หรือหมดสภาพไปแล้ว เพราะนายบุญทาได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจดทะเบียนตามหนังสือมอบอำนาจนั้น และโฉนดที่พิพาทเป็นโฉนดที่แบ่งแยกมาจากรายการจดทะเบียนที่ไม่ชอบดังกล่าว โฉนดที่พิพาทจึงออกคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนและแก้ไขรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินได้และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาข้อสุดท้ายในปัญหาเรื่องจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดเพราะเหตุแห่งการรอนสิทธิหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะได้ซื้อที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันทางทะเบียนและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต แต่คดีได้ความว่า โจทก์รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไว้โดยสุจริตเช่นกันเมื่อจำเลยที่ 1 สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่พิพาทและโฉนดที่พิพาทเป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง กรณีเช่นนี้ ต้องถือว่า โจทก์ถูกรอนสิทธิ์ ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธิ์นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479
พิพากษายืน.

Share