คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสามขยายความมาตรา 69 วรรคสอง เฉพาะความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ซึ่งเป็นมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม
จำเลยมีมูลฝิ่นหนัก 8.5 กรัม ไว้ในครอบครอง จึงต้องวางอัตราโทษตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ศาลล่างวางโทษจำเลยตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นบทแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสามและวรรคสี่ด้วยนั้นไม่ถูก ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเป็นไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ.2528 มาตรา 6.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีมูลฝิ่นหนัก ๘.๕ กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๑๗, ๖๙, ๙๗, ๑๐๒ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔, ๖, ๑๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๒ ริบของกลางคือมูลฝิ่นกับหัวกล้องและด้ามกล้อง ๒ ชุด เหล็กแยงหัวกล้อง ๑ อัน ตะปูแยงหัวกล้อง ๑ ตัว ใบลาน ๑ ใบ และตะเกียง ๑ ดวง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการเสพฝิ่นและขอให้เพิ่มโทษกับนับโทษต่อ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๑๗, ๖๙, ๙๗, ๑๐๒ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔, ๖, ๑๐ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓, ๙๒ จำคุก ๑ ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยรับสารภาพ กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๙ เดือนริบของกลางทั้งหมด ยกคำขอให้นับโทษต่อเพราะศาลยังไม่ได้พิพากษาคดีที่ขอให้นับโทษต่อ
โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๙ วรรคสาม ศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า วัตถุของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นมูลฝิ่น จึงต้องวางโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๙ วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘ มาตรา ๖ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๙ ได้บัญญัติหลักการของการกระทำความผิดไว้ ๒ ประการ คือ ประการแรกวางโทษผู้มียาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ไว้ในครอบครองโดยบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทประการที่สองวางโทษผู้จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ โดยบัญญัติไว้ในวรรคสอง มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท จึงเห็นได้ว่าอัตราโทษการมีไว้ในครอบครองกับอัตราโทษการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายแตกต่างกัน โดยอัตราโทษการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายจะสูงกว่าอัตราโทษการมีไว้ในครอบครอง ส่วนข้อความในมาตรา ๖๙ วรรคสาม ของพระราชบัญญัตินี้ขยายความเฉพาะในวรรคสอง คือบทบัญญัติมาตรา ๖๙ วรรคสาม หมายความเฉพาะความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมอร์ฟีน โคคาอีนและฝิ่นที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมเท่านั้น คดีนี้จำเลยมีมูลฝิ่นหนัก ๘.๕ กรัมไว้ในครอบครอง จึงต้องวางอัตราโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา๖๙ วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาถูกต้องแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งให้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๖ ซึ่งเป็นบทแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๙ วรรคสามและวรรคสี่นั้นไม่ถูกต้อง จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่งเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share