แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาขายฝากที่ดินที่ไปทำกันที่อำเภอเวลาไถ่ถอนก็ต้องไปแก้ทะเบียนกันที่อำเภอด้วย ทรัพย์ที่ฝ่ายสามีหรือภรรยามีมาก่อนแต่งงานกันนั้น แม้จะมิได้เอาบริคณห์ด้วยในเวลาแต่งงานก็ยังถือว่าเป็นสินเดิมอยู่ในตัว ไม่นับว่าเป็นสินส่วนตัว ประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.248 – 249 ฎีกาอุทธรณ์ ปัญหาข้อเท็จจริง ข้อที่ว่าผู้ตายมีสินเดิมหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง แก้น้อย
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งมฤดกซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ โดยโจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งดังนี้คือ เมื่อหักจากหนี้กองมฤดกแล้วให้ใช้ทุนสินเดิมแก่จำเลย แล้วหักค่าธรรมเนียมค่าทนายโจทก์ จำเลยแล้วจึงหักชำระค่าทำศพ ฯลฯ เหลือเท่าใดให้แบ่งเป็น ๒ ภาค ภรรยาได้แก่จำเลย ภาคญาติได้แก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้แบ่งดังนี้ เมื่อหักจากหนี้กองมฤดกเหลือเท่าใดให้หักใช้ค่าสินเดิมแก่จำเลยก่อน เหลือเท่าใดแบ่งเป็น ๓ ส่วนเป็นสินสมรสของจำเลย ๑ ส่วน อีก ๒ ส่วนเป็นมฤดก มฤดกกองนี้ให้หักค่าทำศพเสียก่อนเหลือเท่าใดหักค่าธรรมเนียมตามกำหนดพิพากษาแลค่าทนายนอกนั้นยืนตามศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา อ้างว่า(๑)ผู้ตายไม่มีสินเดิมหรือมีก็มิได้เอามาบริคณห์
(๒)ในเรื่องที่ดินหมายเลข ๖ – ๗ – ๙ – ๑๐ ได้มีการไถ่ถอนการขายฝากแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้ทุนทรัพย์ไม่เกิน ๒๐๐๐ บาท แลศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขแต่เพียงเล็กน้อย จำเลยฎีกาได้แต่ฉะเพาะปัญหาข้อกฎหมาย สำหรับปัญหาข้อ ๑ เห็นว่าศาลอุทธรณ์ได้ชี้ขาดในข้อเท็จจริงมาแล้วว่า ผู้ตายมีสินเดิมแลข้อที่ว่าเอามาบริคณห์หรือไม่ก็มิได้ทุ่มเถียงกันมาแต่ต้น แลตามกฎหมายสินเดิมก็ไม่จำเป็นต้องเอามาบริคณห์ก็เป็นสินเดิมอยู่ในตัว ส่วนปัญหาข้อ ๒ ทีว่าที่นารับซื้อฝากไว้ เจ้าของเดิมได้ไถ่ถอนไปแล้วนั้น เห็นฟ้องกับศาลอุทธรณ์ที่ว่าการซื้อฝากรายนี้ทำสัญญากันที่อำเภอเป็นหลักฐาน แลผู้ขายฝากยังไม่ได้ไถ่คืนไป โดยเห็นว่ารายใดที่ยังไม่มีการแก้ทะเบียนที่อำเภอจะถือว่ามีการไถ่ถอนแล้วนั้นไม่ได้ เพราะสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิในทรัพย์ตกไปยังผู้ซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิในทรัพย์ตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อตกลงว่า ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ แม้จะฟังว่ามีการไถ่ถอนกันเอง กรรมสิทธิก็พาตกไปยังผู้ไถ่ซึ่งไถ่โดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์