คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9239/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในซอยบ่อนไก่ ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพียงท้องที่เดียว สถานที่ที่จำเลยถูกจับกุมภายหลังการกระทำความผิดซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน หาใช่ท้องที่ที่เกิดการกระทำความผิดด้วยไม่ เมื่อที่เกิดเหตุอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมื่องนนทบุรีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีจึงมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) เพียงแต่บังคับโจทก์ให้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บังคับให้โจทก์ต้องระบุวรรคของบทมาตราในกฎหมายด้วยไม่

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 362/2541 แต่คดีสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 339, 340 ตรี ริบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 11,250 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุก 15 ปี ริบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 11,250 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้นั้น เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในซอยบ่อนไก่ ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพียงท้องที่เดียว สถานที่ที่จำเลยถูกจับกุมภายหลังการกระทำความผิดซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูนหาใช่ท้องที่ที่เกิดการกระทำความผิดด้วยไม่ เมื่อที่เกิดเหตุอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี จึงมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสาม
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยเกินคำขอตามคำฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องความว่า จำเลยร่วมกับพวก 1 คน มีอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่ม จี้ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายหลายรายการรวมราคา 11,250 บาท โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้อาวุธมีดแทงประทุษร้ายเพื่อให้ความสะดวกแก่การชิงทรัพย์พาทรัพย์นั้นไป และจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 339, 340 ตรี คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว อนุมาตรา (6) ของมาตราดังกล่าวเพียงแต่บังคับโจทก์ให้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บังคับให้โจทก์ต้องระบุวรรคของบทมาตราในกฎหมายด้วยไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องโดยบรรยายองค์ประกอบความผิดครบถ้วนต้องด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 และโจทก์นำสืบพยานหลักฐานฟังได้ตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่โจทก์ขอโดยปรับวรรคที่ตรงกับลักษณะการกระทำนั้นได้โจทก์หาต้องระบุวรรคมาด้วยไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่เกินคำขอ
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตประสาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยสูงเกินไป คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา สมควรลดโทษแก่จำเลยและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จะได้ความว่าจำเลยเคยป่วยเจ็บทางจิตประสาท แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยมีความป่วยเจ็บถึงขาดไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือจิตฟั่นเฟือนจึงไม่มีเหตุให้กำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำ 15 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย 15 ปี เป็นการลงโทษขั้นต่ำตามกฎหมายแล้ว ไม่อาจกำหนดโทษน้อยกว่านี้ได้ คดีนี้โจทก์มีทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่รู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดเหตุและติดตามรู้เห็นการกระทำของจำเลยระหว่างหลบหนีหลังเกิดเหตุ จนกระทั้งจับกุมจำเลยได้แทบจะทันทีทันใดที่เกิดเหตุ ยากที่จำเลยจะปฏิเสธได้ คำรับของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลดโทษให้จำเลย โทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เกิน 3 ปี จึงรอการลงโทษไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share