คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2484

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันหลอกลวงให้โจทก์แต่งงานกับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ยอมอยู่กินด้วย และไม่จดทะเบียนสมรส ทำให้โจทก์ต้องเสียหาย เป็นเรื่องละเมิดทางแพ่ง ไม่ใช่เรื่องเรียกค่าสินสอดคืนตามลักษณะผัวเมียเมื่อไม่ได้ความว่าหลอกลวงศาลต้องตัดสินยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง ๒ หลอกลวงโจทก์ให้แต่งงานกับจำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โจทก์ต้องเสียเงินสินสอดให้จำเลยที่ ๑ ไป ๑๑๒ บาท และเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์อีกคิดเป็นเงิน ๑๐๐ บาท ขอให้จำเลยรับผิด ศาลแขวงธนบุรีพิพากษาว่าการสมรสตามประเพณีนิยมได้มีขึ้นแล้ว แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสโจทก์จึงควรได้รับเงินสินสอดคืน ส่วนเงินค่าขันหมากและค่าเลี้ยงแขกได้จ่ายไปตามประเพณี และโจทก์ได้รับผลตอบแทนเพราะมีการสมรสแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิได้คืน และเรื่องค่าเสียหายก็ไม่ได้ความว่าโจทก์ต้องเสียหายอย่างไร จึงไม่ควรได้รับค่าเสียหายตามขอ พิพากษาให้จำเลยจัดการทะเบียนสมรสกับโจทก์ ถ้ามิฉะนั้นก็ให้คืนเงินสินสอด ๑๑๒ บาทให้โจทก์
โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่โจทก์ได้ตกลงแต่งงานกับจำเลยที่ ๒ นี้ ไม่ได้ความว่าเป็นเพราะจำเลยทั้ง ๒ ได้หลอกลวงโจทก์แต่อย่างใดกรณีอาจเป็นว่าจำเลยที่ ๒ บังเกิดความไม่พอใจขึ้นในภายหลังจากได้แต่งงานแล้วก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยอาศัยประมวลแพ่ง ฯ บรรพ ๕ ว่าด้วยการสมรสนั้นเป็นวินิจฉัยนอกฟ้อง เพราะโจทก์ฟ้องอ้างเหตุว่าจำเลยหลอกลวงให้โจทก์แต่งงานเป็นละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย จึงพิพากษากลับศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๒ ได้สมคบกันใช้อุบายหลอกลวง ฉ้อฉลให้โจทก์หลงเชื่อทำการสมรสกับจำเลยที่ ๒ และโจทก์ได้รับความเสียหายในการที่ถูกจำเลยทั้ง ๒ หลอกลวงเป็นเรื่องละเมิดในทางแพ่ง ไม่ใช่เรื่องเรียกค่าสินสอดคืน และโจทก์สืบถึงสาเหตุที่แสดงว่ามีการหลอกลวงไม่ได้ จึงไม่มีทางชะนะคดี และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงเงินที่โจทก์เรียกว่าเป็นค่าสินสอดตามลักษณะผัวเมียซึ่งเป็นการนอกประเด็น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share