คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9223/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2 กำหนดให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่สิ้นสุดของเดือน หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยก็มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในข้อ 3 ให้โจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินเดิมเป็นต้นเงินใหม่ได้ทันที แต่มิได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนี้ เมื่อสัญญายังไม่เลิก โจทก์จึงจะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยอ้างเหตุ จำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยหาได้ไม่
เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยกำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเลิกกันนับแต่วันได้รับหนังสือ แต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ถึง 18กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาเลิกกันนั้นยังไม่ถึง 1 เดือนตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ยไม่ทบต้น
เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม2533 แต่ยังมีการเดินบัญชีตลอดมา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังมีผลอยู่โดยไม่มีกำหนดเวลา การที่โจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยชำระหนี้ โดยทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาอย่างไร จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้นมิใช่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอ้างบันทึกข้อตกลงข้อ 3 ที่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดได้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่โจทก์คิดจากลูกค้าชั้นดีบวกอีกอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี
แม้สัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับจะมีผู้ค้ำประกันเกินกว่าหนึ่งคนแต่เป็นการร่วมกันค้ำประกันในภาระหนี้รายเดียวกัน การปิดอากรแสตมป์แต่ละฉบับเพียง 10 บาท จึงครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรฯ แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี918,794.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 877,393.92บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออก 59,678,752.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 34,340,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 46,637,739.72 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 35,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่บังคับคดีชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 918,794.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน877,393.92 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 9พฤษภาคม 2539) ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 59,678,752.34บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 34,340,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยที่ 4 กับที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดไม่จำกัดจำนวนร่วมกันชำระเงิน 35,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2537จนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 11,637,739.72 บาท)หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17863 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน 30-318-104-0034 ถึง 30-318-104-0036,30-318-104-0038, 31-318-104-0001 ถึง 31-318-104-0008รวม 12 เครื่อง ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาด ชำระหนี้โจทก์จนครบ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในเรื่องกู้เบิกเงินเกินบัญชีแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17863 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรในวงเงิน 5,482,000 บาท และ 2,483,000บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เสียก่อน ปัญหามีว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหรือไม่ เห็นว่า สำหรับกรณีผิดนัดชำระดอกเบี้ยซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่สิ้นสุดของเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยก็มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ในข้อ 3 ให้โจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินเดิมเป็นต้นเงินใหม่ได้ทันที แต่มิได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนี้เมื่อสัญญายังไม่เลิก โจทก์จึงจะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยอ้างเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยหาได้ไม่ นอกจากนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 16กุมภาพันธ์ 2537 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 เดือนเดียวกัน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเลิกกันนับแต่วันนี้ แต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาเลิกกันนั้นยังไม่ถึง 1 เดือนตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ยไม่ทบต้น และศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2533แต่ยังมีการเดินบัญชีตลอดมา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังมีผลอยู่โดยไม่มีกำหนดเวลา การที่โจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ โดยทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ผิดสัญญาอย่างไร จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้นมิใช่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอ้างบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2532 ข้อ 3 ที่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดได้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่โจทก์คิดจากลูกค้าชั้นดีบวกอีกอัตราร้อยละ 1 ต่อปีซึ่ง ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 คือ อัตราร้อยละ 11 ต่อปี ตามประกาศของโจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 903,455.63 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันดังกล่าว โดยต้องหักจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีชำระคืนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 253 วันที่ 15 มิถุนายน 2537 วันที่ 15 กันยายน2537 วันที่ 15 และ 19 ธันวาคม 2537 วันที่ 15 มีนาคม 2538 วันที่ 31พฤษภาคม 2538 วันที่ 15 กันยายน 2538 วันที่ 15 ธันวาคม 2538และวันที่ 15 มีนาคม 2539 ออกจากดอกเบี้ยค้างชำระและต้นเงินเสียก่อนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในประเด็นนี้โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อแรกมีว่า ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือคำฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับภาระหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกหรือไม่เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและทำสัญญารับชำระหนี้ไว้ด้วย แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาชำระหนี้จากการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ซึ่งเท่ากับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ให้แล้วว่า ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือคำฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า สัญญารับชำระหนี้ทำขึ้นโดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออก ไปขายแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนและหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสี่รวมทั้งเรียกดอกเบี้ยที่โจทก์พึงมีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และฎีกาในส่วนที่ว่าสัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนที่โจทก์ตกลงให้เครดิตสินเชื่อเพื่อการส่งออกแก่จำเลยที่ 1จึงถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาค้ำประกันหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การต่อสู้คดีเกี่ยวกับสัญญารับชำระหนี้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญารับชำระหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ สัญญารับชำระหนี้ที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นเอกสารปลอม โดยมิได้ต่อสู้ว่าสัญญารับชำระหนี้ทำขึ้นโดยมีเงื่อนไขตามที่ยกขึ้นอ้างในฎีกากับมิได้ต่อสู้ว่าสัญญาค้ำประกันไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ฎีกาดังกล่าวนี้จึงมิใช่ข้อยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อต่อไปมีว่า สัญญารับชำระหนี้เป็นสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ปิดอากรแสตมป์จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 หรือไม่ เห็นว่า สัญญารับชำระหนี้ดังกล่าวเป็นเพียงการที่จำเลยที่ 1 ทำให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐานในการรับจะชำระหนี้เท่านั้นจึงมิใช่สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาสัญญารับชำระหนี้ดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อสุดท้ายว่าสัญญาค้ำประกันซึ่งมีผู้ค้ำประกันแต่ละฉบับเกินกว่าหนึ่งคนแต่ปิดอากรแสตมป์เพียงฉบับละ 10 บาท เป็นการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานมิได้ หรือไม่ เห็นว่าแม้สัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับจะมีผู้ค้ำประกันเกินกว่าหนึ่งคนแต่เป็นการร่วมกันค้ำประกันในภาระหนี้รายเดียวกัน การปิดอากรแสตมป์แต่ละฉบับเพียง 10 บาท จึงครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 903,455.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ11 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 โดยต้องหักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าชำระหนี้ภายหลังจากนั้นรวม 10 ครั้ง ตามรายการบัญชีเอกสารหมาย จ.74 แต่ละคราวชำระดอกเบี้ยค้างชำระและหากยังเหลือเงินก็ชำระต้นเงินให้แล้วเสร็จเสียก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share