คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9221/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้กระเป๋าสะพายผ้าร่มสีดำสำหรับซุกซ่อนธนบัตรที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่ได้ใช้สำหรับซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ของกลางดังกล่าวจึงไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33 (2) จึงไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและสั่งคืนแก่เจ้าของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 49, 58, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนกับกระเป๋าสะพายผ้าร่มสีดำของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2499/2543 ของศาลแขวงพระโขนงเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี คำรับสารภาพชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงลงโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน ให้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2499/2543 ของศาลแขวงพระโขนงมาบวกกับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน 15 วัน ริบเมทแอมเฟตามีนและกระเป๋าสะพายผ้าร่มสีดำ 1 ใบ ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า วัตถุเม็ดของกลางจำนวน 19,856 เม็ด ที่บรรจุอยู่ในถุงกระดาษสีน้ำตาลขนาด 12 คูณ 17 นิ้ว พันตำรวจตรีหญิงสุนันท์ได้ตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 น้ำหนัก 1,910.700 กรัม ตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.2 และจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีสมเกียรติและดาบตำรวจธวัชชัยเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากที่ทราบจากสายลับว่า จำเลยที่ 1 จะนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้แก่ลูกค้าที่หลังอู่รถยนต์โดยสารประจำทางสาย 4 ริมทางรถไฟแขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พันตำรวจตรีสมเกียรติและดาบตำรวจธวัชชัยกับพวกรวม 8 คน จึงไปซุ่มดูบริเวณที่เกิดเหตุนานประมาณ 10 นาที ก็เห็นจำเลยที่ 1 หิ้วถุงกระดาษเดินผ่านมา พันตำรวจตรีสมเกียรติกับพวกเดินตามเพื่อตรวจค้น เมื่อจำเลยที่ 1 เดินเลี้ยวซ้ายไปถึงบริเวณมุมบ้านเลขที่ 23/10 พันตำรวจตรีสมเกียรติกับพวกตามไปทัน พบจำเลยที่ 2 ยืนอยู่กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หิ้วถุงใบเดียวกับที่จำเลยที่ 1 หิ้วมา พันตำรวจตรีสมเกียรติกับพวกจึงขอตรวจค้นตัวจำเลยทั้งสองพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในถุงกระดาษ และพบเงินสดจำนวน 40,000 บาท อยู่ในกระเป๋าผ้าร่มสีดำที่จำเลยที่ 1 สะพายอยู่ จำเลยที่ 2 รับว่ารับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ในขณะที่จำเลยที่ 2 หิ้วถุงกระดาษซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ภายใน โดยก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หิ้วถุงกระดาษดังกล่าวและเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจำเลยที่ 1 เพราะสืบทราบมาว่าจำเลยที่ 1 จะนำเมทแอมเฟตามีนส่งให้แก่ลูกค้า เมื่อถูกจับจำเลยที่ 1 ก็รับว่าได้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้แก่ลูกค้า ส่วนจำเลยที่ 2 รับว่า ตนได้รับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีเหตุผลและสอดคล้องต้องกันอย่างสมจริง และคำเบิกความมีลักษณะเป็นกลาง มิได้มุ่งร้ายจนเห็นได้ชัดว่าจงใจจะให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิด ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในขณะถูกจับกุม เพราะยังไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งคำพูดของตนเพื่อให้พ้นผิดเนื่องจากถูกจับได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้โดยปราศจากข้อระแวงสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิด กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พันตำรวจตรีสมเกียรติและดาบตำรวจธวัชชัยไม่เห็นจำเลยที่ 1 ส่งถุงเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่พยานโจทก์ทั้งสองติดตามจำเลยที่ 1 อย่างกระชั้นชิด และขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปหาจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 มองเห็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 2 ต้องหลบหนีไปแล้วพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ถึงแม้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามจำเลยที่ 1 อย่างกระชั้นชิดแต่เนื่องจากตอนที่จำเลยที่ 1 ส่งถุงเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นเป็นช่วงเลี้ยวหัวมุมทางเดิน เจ้าพนักงานตำรวจจึงเห็นตอนที่จำเลยที่ 2 หิ้วถุงเมทแอมเฟตามีนแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ไม่หลบหนีนั้น อาจเป็นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจำเลยที่ 1 ในระยะห่างเพียงประมาณ 5 เมตร จำเลยที่ 2 เห็นโดยกะทันหันย่อมหลบหนีไม่ทัน ประกอบกับความตื่นตระหนกและคาดไม่ถึงจนถึงกับยอมรับสารภาพเพราะตนหิ้วถุงเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีพิรุธหรือข้อระแวงสงสัยแต่ประการใด ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 โยนถุงเมทแอมเฟตามีนเข้าไปในบ้านที่จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 2 นอนหลับอยู่ภายในบ้านนั้น เห็นว่า ถึงแม้จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดจำเลยที่ 1 โยนถุงเมทแอมเฟตามีนเข้าไปในบ้านเอง แต่นอกจากโจทก์มีคำเบิกความของพันตำรวจตรีสมเกียรติและดาบตำรวจธวัชชัยซึ่งยืนยันว่าจำเลยที่ 2 หิ้วถุงเมทแอมเฟตามีนยืนอยู่กับจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ยังมีบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อยอมรับว่าจำเลยที่ 2 รับถุงเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ถามค้านพยานโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 19,856 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 203.897 กรัม นับว่ามีจำนวนมากอันเป็นอันตรายแก่สังคมโดยรวมอย่างร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์วางโทษมาแล้วนั้นนับว่าเหมาะแก่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่งในระหว่างการพิจารณาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
อนึ่ง จำเลยใช้กระเป๋าสะพายผ้าร่มสีดำสำหรับซุกซ่อนธนบัตรที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่ได้ใช้สำหรับซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษของกลางดังกล่าวจึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 (2) จึงไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและสั่งคืนแก่เจ้าของ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนกระเป๋าสะพายผ้าร่มสีดำของกลางแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share