แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานมีอาวุธปืน ฐานพาอาวุธปืน และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ ผู้กระทำมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละอันแตกต่างกัน และเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสามฐานนี้ในเวลาเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่
อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียน ผู้ใดมีไว้ย่อมเป็นความผิด การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบจึงชอบด้วย ป.อ. มาตรา 32 แม้จะมิได้ระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่าเป็นการริบของกลางตามบทบัญญัติใด ก็ถือว่าได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แล้ว เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลต้องยกบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการริบของกลางขึ้นปรับในคำพิพากษาด้วยแต่ประการใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371, 376 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 376 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน 5 วัน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับมาประการแรกว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน จำเลยประสงค์เพียงเพื่อการครอบครองเป็นเจตนาเดียว และการกระทำความผิดของจำเลยก็เป็นวันเวลาเดียวกัน ส่วนความผิดฐานยิงปืนโดยใช่เหตุนั้น การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปก็ประสงค์อย่างเดียวคือการนำไปยิงในที่ชุมนุมชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เห็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืน ความผิดฐานพาอาวุธปืน และความผิดฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ ผู้กระทำมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละอัน แตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสามฐานนี้ในวันเวลาเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสามฐานมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายต่อมาว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง และมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง กฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้ริบอาวุธปืน และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบของกลางก็มิได้ระบุไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่าริบของกลางตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจึงเท่ากับไม่มีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติว่าทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียน ผู้ใดมีไว้ย่อมเป็นความผิด การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 แล้ว แม้จะมิได้ระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่าเป็นการริบของกลางตามบทบัญญัติใด ก็ถือว่าได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แล้ว ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บังคับให้ศาลต้องยกบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการริบของกลางขึ้นปรับในคำพิพากษาด้วยแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน