คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9217/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลจังหวัดระยองได้มีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจัดการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่1ไม่ได้ศาลชั้นต้นให้หมายแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าโจทก์ทั้งสองจะดำเนินการอย่างไรให้แถลงภายใน15วันโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งแล้วไม่มาแถลงภายในเวลาที่กำหนดถือว่าโจทก์ทั้งสองทิ้งฎีกาสำหรับจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา174(2)ประกอบด้วยมาตรา246และ247 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการที่ศาลศาลอุทธรณ์คดีอาญาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้จึงพิพากษายกฟ้องนั้นเป็นกรณีที่คำพิพากษาคดีอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่1กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่1กระทำการโดยประมาทหรือไม่ไว้แน่นอนแล้วเมื่อโจทก์ที่1เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาจึงผูกพันโจทก์ที่1ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งในการพิพากษาคดีนี้ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่1ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46 โจทก์ที่2ฟ้องขอให้จำเลยที่2ที่3และที่4ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่2เป็นจำนวนเงิน174,338บาทดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งที่โจทก์ที่2ฎีกาว่าโจทก์ที่1เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน2จ-3838กรุงเทพมหานครและมีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยที่1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่2และที่3หรือไม่เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1หรือไม่และค่าเสียหายมีเพียงใดนั้นล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อการพิพากษาคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่1ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อโจทก์ที่2เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่1ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมแทนแก่โจทก์ที่1ตามสัญญาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่2ที่3และที่4จึงได้รับผลของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ที่1ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 จ-3838 กรุงเทพมหานคร และเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4291 ระยองของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ไปในทางการที่จ้างหรือในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามถนนติวานนท์จากอำเภอปากเกร็ดมุ่งหน้าไปทางจังหวัดปทุมธานี เมื่อมาถึงทางเข้าวัดโพธิ์ทองบนจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปทางด้านขวาแล้วเลี้ยวขวากลับรถไปฝั่งช่องเดินรถรถสวนตัดหน้ารถยนต์คันที่โจทก์ที่ 1 ขับตามหลังมาอย่างกระชั้นชิด ด้วยความประมาทไม่เปิดไฟเลี้ยวขวา รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จึงชนข้างด้านหลังของรถยนต์บรรทุกหลายรายการ โจทก์ที่ 2 จัดซ่อมและจ่ายค่าซ่อมรวม 168,208 บาทให้แก่อู่ซ่อมไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2530 โจทก์ที่ 1 บาดเจ็บต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลวิภาวดีเป็นเงิน 6,379 บาทระหว่างซ่อมรถยนต์ 4 เดือน โจทก์ที่ 1 ต้องใช้รถยนต์รับจ้างสาธารณะไปประกอบธุรกิจเป็นเงินวันละ 500 บาท รถยนต์ของโจทก์ที่ 1เป็นรถใหม่ แม้จะซ่อมแล้วก็ยังเสื่อมราคาคิดเป็นเงิน 200,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 251,379 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 174,338 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 419,587 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน2 จ-3838 กรุงเทพมหานคร เป็นของบุคคลอื่นไม่ใช่เป็นของโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้ จำเลยที่ 1ไม่ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2และที่ 3 เหตุเกิดขึ้นเพราะโจทก์ที่ 1 ประมาทขับรถขณะเมาสุราด้วยความเร็วสูงไม่สามารถหลบหรือหยุดรถทัน รถยนต์จึงแล่นเข้าชนรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับขณะจอดรอกลับรถอยู่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รับเป็นฎีกาของโจทก์ สำเนาให้จำเลยให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกา” โจทก์ทั้งสองยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือไปยังศาลจังหวัดระยองเพื่อดำเนินการส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจัดการให้ ต่อมาศาลจังหวัดระยองได้มีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าได้จัดการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่ส่งไม่ได้พร้อมกับส่งรายงานการส่งหมายของเจ้าหน้าที่ให้ศาลชั้นต้นทราบด้วยศาลชั้นต้นรับทราบแล้วมีคำสั่งว่า “รอโจทก์แถลง” โจทก์ทั้งสองไม่ได้แถลง ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้ส่งสำนวนมาศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แต่อย่างใด จึงให้ส่งสำนวนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ต่อไปศาลชั้นต้นให้หมายแจ้งให้ทนายโจทก์ทั้งสองทราบว่าส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ทั้งสองจะดำเนินการอย่างไรให้แถลงภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหมาย มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกาพนักงานเดินหมายแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองทราบแล้วโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2538 โจทก์ทั้งสองมิได้ดำเนินการอย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลจังหวัดระยองได้มีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจัดการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นให้หมายแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าโจทก์ทั้งสองจะดำเนินการอย่างไรให้แถลงภายใน 15 วันโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งแล้วไม่มาแถลงภายในเวลาที่กำหนด ถือว่าโจทก์ทั้งสองทิ้งฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสีย สำหรับคดีระหว่างโจทก์ที่ 1กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 จ-3838 กรุงเทพมหานครชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4291 ระยอง ซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย และรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 และเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ได้ความว่า เหตุที่เกิดรถชนกันนี้พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาว่า ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 731/2532 ของศาลจังหวัดนนทบุรี พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การที่ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาคดีอาญาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้จึงพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นได้ว่าคำพิพากษาคดีอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1กระทำการโดยประมาทหรือไม่ไว้แน่นอนแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาจึงผูกพันโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งในการพิพากษาคดีนี้ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในข้ออื่นอีก
สำหรับโจทก์ที่ 2 นั้น โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 174,338 บาทดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาในประเด็นที่ว่า โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 จ-3838 กรุงเทพมหานครและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดนั้นล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่โจทก์ที่ 2ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาคดีหมายเลขแดงที่ 731/2532ของศาลจังหวัดนนทบุรีนั้น ศาลได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้วว่าในการพิพากษาคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โจทก์ที่ 2เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมแทนแก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงได้รับผลของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1 ด้วย
พิพากษายืน

Share