แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างหรือตัวการที่ใช้ให้ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุเพื่อผลประโยชน์ของจำเลย และลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยได้ขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะนายจ้างหรือตัวการต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุจะเป็นใครชื่ออะไร หรือมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไรเป็นรายละเอียดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของจำเลย จำเลยในฐานะนายจ้างหรือตัวการย่อมต้องรับผิดอยู่แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจะอ้างกรมธรรม์ประกันภัยต่อศาลในชั้นพิจารณา โจทก์มิได้ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยมาท้ายฟ้องด้วย ดังนั้นคำให้การของจำเลยที่ว่าขอปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ทุกฉบับว่าไม่อาจรับฟังได้ตามกฎหมายเนื่องจากเป็นเพียงสำเนาเอกสารจึงเป็นการคัดค้านเฉพาะสำเนาเอกสารท้ายฟ้องเท่านั้น ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้คัดค้านสำเนากรมธรรม์ประกันภัยด้วย และเมื่อโจทก์ส่งสำเนากรมธรรม์ประกันภัยต่อศาลจำเลยก็มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้นแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยยอมรับว่าสำเนากรมธรรม์ประกันภัยนั้นถูกต้องแล้ว ศาลมีอำนาจรับฟังได้
ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยระบุเลขหมายทะเบียนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นภาษาอังกฤษว่า 9 CH – 1935 แต่เนื่องจากภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงพยัญชนะตัว “ช” และ “ฉ” คล้ายกันและพยัญชนะทั้งสองตัวนี้เมื่อเทียบกับพยัญชนะภาษาอังกฤษแล้วก็อาจใช้ตัว “CH” แทนได้ทั้งสองตัว ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ก็ใช้พยัญชนะตัว “ฉ” ดังนั้น ที่โจทก์แปลว่า 9 CH -1935 คือ 9 ช – 1935 จึงเป็นเรื่องแปลผิดไป โจทก์มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าเป็น 9 ฉ – 1935 เพราะเป็นการสืบอธิบายว่าโจทก์แปลพยัญชนะจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยผิดไปจากความเป็นจริง จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94