แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับออกไป โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ความยุติธรรม ดังนี้มิใช่คำร้องขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่เป็นเรื่องขอให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปที่มีอยู่กำหนดเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับให้ใหม่ ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะอนุญาตได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ช. บิดาโจทก์ที่ 4 และจำเลยที่ 1เป็นบุตรของ ฉ. โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นมรดกของ ฉ. ได้ความตามที่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า ฉ. ขอยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้ว สัญญายกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาท คนละ 15 ไร่ 1 งาน โดยให้ทายาททุกคนชำระเงินคนละ 4,400 บาทแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนี้ ถือว่า ฉ. กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ทำสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงมิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น เมื่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ช. บิดาของโจทก์ที่ 4มิได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก และเสนอจะชำระเงินคนละ 4,400 บาท ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 บุตรของ ช. จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้ตามสัญญาส่วนโจทก์ที่ 1 แม้จะไปยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่าได้เตรียมเงินจำนวน 4,400 บาทไปชำระตามข้อกำหนดในสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงโจทก์ที่ 1 น่าจะต้องระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในคำขออายัด โจทก์ที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้ตามสัญญาเช่นเดียวกันและเมื่อโจทก์ทั้งสี่หมดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้ดังกล่าวแล้วก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 นายชวน เฉยสวัสดิ์บิดาโจทก์ที่ 4 และจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายโฉม เฉยสวัสดิ์ และนางเลียบ เฉยสวัสดิ์นางเลียบและนายชวนถึงแก่ความตายไปนานแล้ว เดิมนายโฉมเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2377 เนื้อที่ 72 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวานายโฉมได้นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่นายสด ธีระวัฒน์เป็นเงินจำนวน 22,000 บาท ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2497 นายโฉม ได้ไถ่จำนองและชำระหนี้ให้แก่นายสดโดยยืมเงินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วทำหนังสือสัญญายกที่ดินแบ่งให้แก่ทายาททุกคนคนละ 14 ไร่ 1 งาน โดยตกลงให้ทายาททุกคนนำเงินคนละ 4,400 บาทมาให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อทำสัญญาแล้วนายโฉมได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้รู้เห็นด้วย ต่อมานายโฉมได้นำหนังสือสัญญาดังกล่าวมาให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้ว โจทก์ทั้งสี่ทราบข้อความตามสัญญาจึงไปขอชำระหนี้คนละ 4,400 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับชำระหนี้และไม่แบ่งที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทระหว่างนายโฉมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติกรรมอำพรางนายโฉมถึงแก่ความตายเมื่อปี 2515 ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายโฉม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรโดยสมยอมและไม่สุจริตนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5เป็นโมฆะ นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 ได้ครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่นายโฉมยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันด้วยความสงบเปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2377 เนื้อที่ 72 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา เป็นมรดกและให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามส่วนคนละ 14 ไร่ 1 งาน หากแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งตามส่วน กับให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากนายโฉมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2497 และได้ทำสัญญากับนายโฉมตามสัญญาเอกสารท้ายฟ้องจริงแต่โจทก์ทั้งสี่มิได้นำเงินมาชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญา ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3ถึงที่ 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอน และการฟ้องคดีเกี่ยวกับมรดกมีอายุความ 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 เฉพาะที่ผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยที่ 1และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสี่คนละ 14 ไร่ 1 งานทั้งนี้ให้โจทก์ทั้งสี่ชำระเงินคนละ 4,400 บาท คืนให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ตามเงื่อนไขในสัญญาเสียก่อน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3นายชวน เฉยสวัสดิ์ และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรนายโฉมนางเลียบ เฉยสวัสดิ์ นายโฉมถึงแก่ความตายปี 2515นายชวนถึงแก่ความตายหลังจากนายโฉมประมาณ 2 เดือน โจทก์ที่ 4 เป็นบุตรนายชวน จำเลยที่ 2 เป็นสามีจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายโฉม นายโฉมได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่นายสด ธีระวัฒน์ ต่อมาปี 2497 นายโฉมได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ออกเงินในการไถ่ถอน ในวันเดียวกับนายโฉมได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.2 ในการขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายโฉมได้ทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ทั้งสามและนายชวนฉบับลงวันที่ 19 พฤษภาคม2497 มีใจความว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการใช้หนี้แทนนายโฉม เพื่อป้องกันมิให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของคนอื่น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้สัญญาว่าเมื่อโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 และนายชวนนำเงินคนละ 4,400 บาท ไปชำระแก่จำเลยที่ 1และที่ 2 แทนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้หนี้แทนนายโฉมแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะแบ่งที่ดินพิพาทให้ตามส่วนคนละ 14 ไร่ 1 งานโดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องนำเงินไปชำระแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ถ้าเกิน 5 ปี แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่รับชำระและไม่แบ่งที่ดินพิพาทให้เมื่อปี 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5ซึ่งเป็นบุตรถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องหรือไม่
ก่อนที่จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งห้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ที่ว่า ศาลชั้นต้นไม่ควรอนุญาตให้จำเลยทั้งห้าขยายระยะเวลายื่นฎีกาเสียก่อน ในข้อนี้จำเลยทั้งห้ากล่าวในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับว่า ขอความกรุณาศาลขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับออกไปมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นฎีกา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นว่าแม้ในคำร้องของจำเลยทั้งห้าจะขอขยายระยะเวลา แต่คงมิได้หมายความถึงการขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำได้เฉพาะเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษจำเลยทั้งห้าประสงค์เพียงขอให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปที่มีอยู่กำหนดเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับให้ใหม่และศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้เวลาแก่จำเลยทั้งห้า โดยให้ยื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2538ซึ่งจำเลยทั้งห้าก็ได้ยื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับภายในกำหนดดังกล่าว ดังนี้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการแรกว่าโจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นมรดกของนายโฉมโจทก์ทั้งสี่เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดก เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนายโฉม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2แบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญา จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องมีข้อความตอนหนึ่งว่านายโฉมขอยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วทำสัญญายกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทคนละ 14 ไร่ 1 งาน โดยให้ทายาททุกคนชำระเงินคนละ 4,400 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากนั้นนายโฉมจึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสี่ทราบถึงสัญญาจึงไปขอรับชำระหนี้แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 บ่ายเบี่ยงไม่ยอมแบ่งให้ โดยโจทก์ทั้งสี่ได้แนบสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.1 มาท้ายคำฟ้องด้วยจากถ้อยคำในคำฟ้องและสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นเอกสารท้ายฟ้องแสดงให้เห็นว่านายโฉมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ทำสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามเอกสารหมาย จ.1การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงมิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการต่อไปมีว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายชวนได้ทราบถึงข้อกำหนดในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 เมื่อใด และได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งห้ามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายชวนได้ทราบถึงข้อกำหนดในสัญญาเอกสารหมาย จ.1ตั้งแต่วันที่มีการทำสัญญาแล้ว ส่วนปัญหาว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3และนายชวนบิดาโจทก์ที่ 4 ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่นั้น เห็นว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อความตามที่กล่าวไว้ในข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติข้างต้นนั้นตามสัญญาระบุถึงกำหนดเวลาไว้ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายชวนจะต้องนำเงินคนละ 4,400 บาท ไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาเสียก่อนแล้วจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงจะแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และนายชวนบิดาโจทก์ที่ 4 ซึ่งได้ทราบถึงข้อกำหนดในสัญญาแล้วแต่มิได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และเสนอชำระเงินคนละ 4,400 บาทภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 บุตรนายชวน จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้ตามสัญญา สำหรับโจทก์ที่ 1 แม้จะได้ไปยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2502 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ก็ตาม แต่คำขออายัดดังกล่าวมีข้อความเพียงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 สัญญาจะแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1ภายในกำหนด 5 ปี บัดนี้จะครบกำหนด 5 ปีแล้ว ก็ยังไม่ยินยอมแบ่งให้โจทก์ที่ 1 จึงขออายัดที่ดินพิพาทเพื่อจะไปฟ้องร้องโดยไม่มีข้อความว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหรือเสนอจะชำระเงิน4,400 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามข้อกำหนดในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แต่อย่างใด เห็นว่า ที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้เตรียมเงินจำนวน 4,400 บาท ไปชำระตามข้อกำหนดในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงโจทก์ที่ 1 ก็น่าจะต้องระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในคำขออายัด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1ได้เสนอขอชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายในกำหนด 5 ปีตามสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้ตามสัญญาเช่นเดียวกัน และเมื่อโจทก์ทั้งสี่หมดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2แบ่งที่ดินพิพาทให้ดังกล่าวแล้วก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3ถึงที่ 5 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งห้าอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง