แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 นั้น นอกจากเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยแล้วยังมีกรณีที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกด้วยซึ่งหมายความว่า แม้การกระทำนั้นจะไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เลย แต่ถ้าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วนิติกรรมนั้นก็ย่อมตกเป็นโมฆะเช่นกัน
แม้การที่โจทก์เรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยโดยใช้วิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้จากคู่ความนั้นจะไม่เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความพ.ศ. 2529 สัญญาจ้างว่าความจึงไม่ตกเป็นโมฆะเพราะเหตุดังกล่าวก็ตาม แต่สัญญาจ้างว่าความฉบับพิพาท ซึ่งเดิมโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่จำเลยกับบุคคลอื่นพิพาทกันเลยการที่โจทก์ได้ค่าจ้างว่าความเป็นที่ดิน 200 ตารางวา อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยพิพาทกับบุคคลอื่นนั้น ย่อมทำให้โจทก์เป็นผู้เข้าไปมีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวโดยตรง เพราะหากจำเลยต้องแพ้คดีแล้ว โจทก์ก็จะไม่ได้ค่าจ้างว่าความเนื่องจากจำเลยพิพาทกับบุคคลอื่นเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์จะได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าจ้างตามฟ้องนั้นทั้งแปลง ดังนี้ สัญญาจ้างว่าความฉบับพิพาทจึงมีลักษณะเป็นการรับโอนสิทธิในการดำเนินคดีของจำเลยมาจัดการให้โดยขอรับส่วนแบ่งจากที่ดินดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนเมื่อจำเลยชนะคดี อันเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกันวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ