คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 337 ศาลอาญาสั่งประทับฟ้องโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศของคณะปฏิวัติ ศาลอาญาสั่งว่า กรณีไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ คำสั่งเช่นนี้ไม่ใช่คำสั่งในประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงแต่ให้นัดสืบพยานโจทก์เพื่อเริ่มการพิจารณาเท่านั้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๓๗, ๘๓ และ ๙๐ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ กับตัดฟ้องว่า ความผิดฐานกรรโชกและทำให้เสียเสรีภาพ อยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า การกระทำของจำเลยตามที่ไต่สวน เป็นการกระทำอย่างเดียวผิดกฎหมายหลายบท กรณีไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๖ ส่วนกรณีที่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๖ นั้น ศาลจะได้รวมสั่งหรือพิพากษาเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ อ้างว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย
จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อตัดฟ้องของจำเลยเป็นคำสั่งชี้ขาดในประเด็นสำคัญว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลอาญา และศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณาพิพากษาต่อไป จึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประเด็นสำคัญแห่งคดีอยู่ที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง เพียงแต่ให้นัดสืบพยานโจทก์เพื่อเริ่มการพิจารณาเท่านั้น จำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๖
พิพากษายืน

Share