คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1377/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขายยามาตรา 15(3) ซึ่งไม่อาจขายยาควบคุมพิเศษได้ เมื่อจำเลยขายยาอันเป็นยาควบคุมพิเศษจึงเป็นการขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาตตามมาตรา 19(2) เป็นความผิดตามมาตรา 102 ยาของกลางจึงริบตามมาตรา 126 ไม่ได้
เมื่อความผิดของจำเลยอยู่ที่ไม่มี ไม่เขียน ไม่พิมพ์ป้ายแสดงราคายาของกลางอันเป็นโภคภัณฑ์ที่จำเลยมีไว้สำหรับจำหน่ายยาของกลางจึงเป็นโภคภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับความผิดอันจะพึงริบตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา 9
ความผิดฐานขายยาไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และความผิดฐานไม่มีป้ายแสดงราคาโภคภัณฑ์ที่มีไว้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 เป็นความผิดสองกรรม เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทมาตราที่มีโทษหนัก โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยผู้เดียวอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12, 101, 126 ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิด โดยกำหนดโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 102 อีก เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จซึ่งมิใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ได้บังอาจขายยา “เนิพเพียว” อันเป็นยาแผนปัจจุบันควบคุมพิเศษ เป็นการขายยาไม่ตรงตามประเภทใบอนุญาต และมิได้รับใบอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดผู้อนุญาตตามพระราชบัญญัติยา และจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นโภคภัณฑ์ ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยไม่มี ไม่เขียน ไม่พิมพ์ป้ายแสดงราคายาอันเป็นโภคภัณฑ์ที่จำเลยมีไว้สำหรับจำหน่ายให้ถูกต้องตามลักษณะและวิธีการในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๒, ๑๙, ๑๐๑, ๑๐๒, ๑๒๖ พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๓, ๔, ๕, ๖, ๙ พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๓, ๔, ๕ แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๙ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๔ เดือนปรับ ๘๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘คงเหลือจำคุก ๒ เดือน ปรับ ๔๐๐ บาท โทษจำคุกรอไว้ ๑ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๙, ๑๐๒ ปรับ ๑,๐๐๐ บาท พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๙ ปรับ ๒๐๐ บาท รวมปรับ ๑,๒๐๐ บาท ลดกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงปรับ ๖๐๐ บาทของกลางทั้งหมดให้คืนจำเลย คำขอนอกนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐มาตรา ๑๒, ๑๐๑ ด้วย ขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทจะเรียงกระทงลงโทษไม่ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๕บัญญัติว่าประเภทของใบอนุญาตสำหรับยาแผนปัจจุบันมี ๕ ประเภทคือ (๑) ใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน (๒) ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (๓) ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่มิใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (๔) ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ และ (๕) ใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักร และตามความในมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๓) แสดงว่าผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนปัจจุบันตามมาตรา ๑๕(๒) อาจทำการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษได้ จำเลยนี้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาตามมาตรา ๑๕(๓) ซึ่งไม่อาจขายยาควบคุมพิเศษได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยขายยา “เนิพเพียว” อันเป็นยาควบคุมพิเศษ จึงเป็นการขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทของใบอนุญาตตามมาตรา ๑๙ (๒) และเป็นความผิดตามมาตรา ๑๐๒ ยา “เนิพเพียว” ของกลาง จึงริบตามมาตรา ๑๒๖ ไม่ได้
โจทก์ฎีกาว่ายาของกลาง เป็นโภคภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับความผิดจึงต้องริบตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๙ นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดของจำเลยอยู่ที่ไม่มี ไม่เขียน ไม่พิมพ์ป้ายแสดงราคายาของกลางอันเป็นโภคภัณฑ์ที่จำเลยมีไว้สำหรับจำหน่าย ดังนั้นยาของกลางจึงเป็นโภคภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับความผิดอันจะพึงริบตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๙
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมชอบแล้ว แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่มีโทษหนัก โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยจำเลยผู้เดียวอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๐๐ (ที่ถูกเป็น ๒๕๑๐) มาตรา ๑๒, ๑๐๑, ๑๒๖ และขอให้คืนของกลางแก่จำเลย ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิด โดยกำหนดโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๐๒ อีก เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ คงลงโทษจำเลยได้เท่าที่กำหนดมาตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๙
พิพากษาแก้เฉพาะกำหนดโทษ เป็นว่า ให้ปรับ ๒๐๐ บาท ลดกึ่งคงปรับ ๑๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share