คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9200/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยเหตุผลสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงการให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้จำเลยได้ให้การเกี่ยวกับวิธีการที่กลุ่มนายทุนผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศ แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ อีกทั้งการที่จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บ้านของจำเลย พร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลาง แต่ของกลางถูกเก็บไว้อยู่ในบ้านของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าหลังจากจับกุมจำเลยแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องมีการสอบคำให้การถึงแหล่งที่มาของยาเสพติด และต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก การให้ข้อมูลของจำเลยจึงมิใช่เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติ พ.ศ.2522 มาตรา 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91,144 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสาม, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่เสพสารเสพติดให้โทษ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานเป็นผู้ขับขี่เสพสารเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 8 เดือน ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถจากนายทะเบียนปรับ 800 บาท ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ประหารชีวิต ฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกฐานเป็นผู้ขับขี่เสพสารเสพติดให้โทษ 4 เดือนฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถจากนายทะเบียน ปรับ 400 บาท ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกตลอดชีวิตฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่จำคุก 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) และปรับ 400 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงการให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้จำเลยได้ให้การเกี่ยวกับวิธีการที่กลุ่มนายทุนผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศแต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ อีกทั้งการที่จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บ้านของจำเลย พร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลาง แต่ของกลางถูกเก็บไว้อยู่ในบ้านของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าหลังจากจับกุมจำเลยแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องมีการสอบคำให้การถึงแหล่งที่มาของยาเสพติด และต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก การให้ข้อมูลของจำเลยจึงมิใช่เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share