คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9199/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาเช่า หนังสือการจดทะเบียนการเช่ามีข้อความว่าผู้ให้เช่าตกลงให้เช่า และผู้เช่าตกลงเช่าตึกแถวสองชั้น (ชั้นล่างและชั้นสอง)จำนวน 8 คูหา พร้อมหน้าบ้านด้านหนึ่งกว้างประมาณ 4 เมตร อีกด้านหนึ่งกว้างประมาณ 6 เมตร ความยาวประมาณ 30 เมตร และตามหลักฐานการจดทะเบียนการเช่าก็มีข้อความระบุไว้ในทำนองเดียวกัน ทั้งยังมีข้อความเพิ่มเติมว่า ปลูกอยู่ในที่ดินของ ศ. และ ล.โฉนดที่ 1593 ตามข้อความในสัญญาเช่าและหลักฐานการจดทะเบียนดังกล่าวเห็นได้ชัดแจ้งว่าคู่สัญญาไม่ได้ให้เช่าและเช่าที่ดินซึ่งตึกแถวปลูกอยู่ จึงไม่ใช่เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินรวมกับที่ดินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.ที่ดิน มาตรา 71 (1) แม้ตามสัญญาเช่าระบุว่ามีการเช่าบริเวณหน้าตึกแถวด้วยก็ตาม แต่บริเวณหน้าตึกแถวแม้จะไม่กล่าวถึงไว้ในสัญญาเช่า ผู้เช่าก็ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว การที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าว่ามีการเช่าบริเวณหน้าตึกแถวด้วยก็หาทำให้การเช่าดังกล่าวกลายเป็นการเช่าตึกแถวในที่ดินรวมกับที่ดินไม่ การที่คู่สัญญาไปจดทะเบียนการเช่าที่สำนักงานเขตย่อมชอบด้วย ป. ที่ดิน มาตรา 71 (2)การจดทะเบียนการเช่าจึงชอบด้วยกฎหมาย
ล.เบิกความไว้ในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นยอมรับว่าได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ย.เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดจนทรัพย์สินอื่นของตนได้ และยังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นอีกว่าโจทก์ยอมรับว่าได้มีการทำหนังสือมอบอำนาจโดย ศ.และ ล.ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ย.จริงเช่นนี้ ก็ย่อมฟังได้ว่า ศ.และ ล.ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่ ย.จริง ซึ่งตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ ย.มีอำนาจทำกิจการเฉพาะอย่างได้หลายประการ เช่น ขาย จำนอง จำนำ ฯลฯ รวมทั้งให้เช่าด้วย ย.จึงมีอำนาจให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทได้
ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างเพียงว่า ย.ไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินและเจ้าของอาคารที่แท้จริงเท่านั้น เมื่อฟังได้ว่า ย.ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินและเจ้าของอาคารคือ ศ.และ ล.แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น ๆ อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
ศ.และ ล.ไม่เคยกล่าวอ้างเลยว่า ย.ไม่มีอำนาจให้เช่าตึกแถวพิพาท ทั้งเมื่อ ศ.และ ล. กับ ย.มีข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1593และตึกแถวพิพาทจนต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล ในที่สุดได้มีการนำที่ดินและตึกแถวพิพาทออกขายทอดตลาด ซึ่งตามประกาศการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ตึกแถวพิพาทมีการจดทะเบียนและนิติกรรมการเช่าตั้งแต่ปี 2522 มีกำหนด 30 ปี ล.เป็นผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากการขายทอดตลาดจึงต้องผูกผันตามสัญญาเช่าดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทมาจาก ล.ก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของ ล.ซึ่งมีต่อจำเลยด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 569 วรรคสอง ซึ่งโจทก์น่าจะรู้ดีอยู่แล้ว การที่โจทก์พยายามอ้างเหตุต่าง ๆ มาฟ้องขับไล่จำเลยน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลและความยุติธรรม

Share