แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ทำสัญญากู้เงินโจทก์ในฐานะตัวแทนของ บ. ผู้ที่จะต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นบ. และตามคำร้องที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกบ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมก็อ้างว่า ถ้าหากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดี จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของ บ.ย่อมจำต้องฟ้อง บ. ซึ่งเป็นตัวการเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยคำร้องของจำเลยที่ 1 จึงเข้าเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากโจทก์จำนวนเงิน300,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ผ่อนชำระหนี้รายเดือนตามข้อตกลงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 486,134.49 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องจริง แต่กู้ในฐานะเป็นตัวแทนของนายบุญชู โรจนเสถียร เพื่อนำมาจัดพิมพ์หนังสือชื่อ”แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองไทย” ของนายบุญชูซึ่งนายบุญชูมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายซึ่งโจทก์ก็ทราบ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว และจำเลยที่ 1 กับผู้จัดการของโจทก์สาขาบางกะปิในขณะนั้นได้ขอร้องให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและประเพณีการกู้ยืมเงินของธนาคารตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยคู่สัญญาทุกฝ่ายรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายบุญชู โรจนเสถียร เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน486,134.49 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้หมายเรียกนายบุญชู โรจนเสถียร เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่หมายเรียกนายบุญชูเข้ามาเป็นจำเลยร่วม นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินตามฟ้องกับโจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนของนายบุญชู ผู้ที่จะต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นนายบุญชูไม่ใช่จำเลยที่ 1 และตามคำร้องที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายบุญชูเข้ามาเป็นจำเลยร่วมจำเลยที่ 1 ก็อ้างในคำร้องว่าถ้าหากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดีตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นตัวแทนของนายบุญชูย่อมจำต้องฟ้องนายบุญชูซึ่งเป็นตัวการเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย ดังนี้คำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายบุญชูเข้ามาเป็นจำเลยร่วมจึงเป็นคำร้องที่เข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3) ประกอบกับเมื่อพิจารณาข้ออ้างของจำเลยที่ 1ที่ไม่สามารถยื่นคำร้องพร้อมกับคำให้การได้ก็มีเหตุผลสมควรดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้หมายเรียกนายบุญชูเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน