แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วและยืมลังไม้ใส่ขวดแก้วจากโจทก์หลายคราวติดต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ถึงพ.ศ. 2522 เมื่อได้มีการคิดบัญชีกันปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งลังไม้คืนโจทก์จำนวน 54,788 ลัง เป็นเงิน 687,551 บาท จำเลยที่ 1 เคยชำระค่าลังไม้ให้โจทก์เกินไป 4 บาท จึงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเป็นค่าลังไม้แก่โจทก์ 687,547 บาท ดังนี้เป็นคำฟ้องที่เข้าใจชัดแจ้งแล้วไม่เคลือบคลุม ส่วนเรื่องจำนวนลังไม้ที่ว่าต่างราคากันและชนิดของลังไม้ที่จำเลยที่ 1 รับไปเมื่อใดต้องคืนเมื่อใด เหลือเท่าใดนั้นเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 649 เป็นเรื่องความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูป แต่ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกคืนลังไม้หรือราคาลังไม้ซึ่งจำเลยที่ 1 ยืมไปพร้อมผลิตภัณฑ์ขวดแก้ว ซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขาย และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติกับโจทก์ตลอดมาตั้งแต่มีการซื้อขายกันจึงนำมาตรา 649 มาบังคับหาได้ไม่ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 สัญญาจำนองระบุเพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ขวดแก้วของบริษัท อ. จำเลยที่ 1 แม้ขณะทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ทั้งค่าผลิตภัณฑ์ขวดแก้วและค่าลังไม้ แต่เมื่อไม่ได้ระบุในสัญญาจำนองว่าเป็นการประกัน การชำระหนี้ค่าลังไม้ด้วยและเป็นที่เห็นได้ชัดว่าลังไม้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ขวดแก้ว จำเลยที่ 2เป็นแต่เพียงผู้ทำสัญญาจำนองประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1เท่านั้นทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งหรือเกี่ยวข้องอะไรกับจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเจตนาของคู่สัญญาจำนองยังเป็นที่สงสัยอยู่ จำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายจะต้องเสียเปรียบในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ตามสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินเป็นการประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วจากโจทก์ในวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองระบุเพียงว่าผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ระบุในสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ทำไว้การจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้รายเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้จำนองหนี้รายนี้ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ผู้จำนองหนี้ดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิดด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์และฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วย มาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วและยืมลังไม้ใส่ขวดแก้วจากโจทก์หลายคราวติดต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ถึงพ.ศ. 2522 จนกระทั่งเดือนมกราคม 2522 จำเลยที่ 1 ได้เลิกซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วจากโจทก์ จึงได้มีการคิดบัญชีกัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งคืนลังไม้แก่โจทก์ 54,788 ลังคิดเป็นเงิน687,551 บาท จำเลยที่ 1 เคยชำระเงินค่าลังไม้ใส่ขวดแก้วให้โจทก์เกินจำนวนเป็นเงิน 4 บาท จึงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเป็นค่าลังไม้แก่โจทก์ 687,547 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 65294 และ 39958 ตำบลสามเสนใน กรุงเทพมหานครมาจำนองเป็นการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามลำดับ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,185,519.40 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 687,547 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินเสร็จ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่65294 ของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จำนวน 907,800 บาท และให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 39958 ของจำเลยที่ 3ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จำนวน 345,520 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยขอยืมลังไม้ใส่ขวดแก้วจากโจทก์ทั้งไม่เคยตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งคืนลังไม้แก่โจทก์จะต้องชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ลังไม้บรรจุผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องจัดหาสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ขวดแก้วเพื่อส่งให้แก่ลูกค้า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายมาโดยละเอียดว่า จำนวนลังไม้ที่ต่างราคากันนั้นแต่ละชนิดจำเลยที่ 1 รับไปเมื่อใด และจะต้องคืนเมื่อใด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ มิได้จำนองเพื่อประกันหนี้ค่าลังไม้บรรจุผลิตภัณฑ์ขวดแก้วที่จำเลยที่ 1 ยืมไปและจำเลยที่ 1 ไม่เคยยืมลังไม้ใส่ขวดแก้วจากโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 65294 คืนจำเลยที่ 2 ให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินจำนองต่อโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์อันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้หนี้ค่าลังไม้ใส่ขวดแก้วที่จำเลยที่ 1ยืมไปจากโจทก์ด้วย สัญญาจำนองหาได้ระบุว่าจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้เฉพาะส่วนที่เป็นราคาของผลิตภัณฑ์ขวดแก้วเท่านั้นไม่โจทก์ไม่มีหน้าที่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 ในเมื่อยังไม่ได้รับชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน687,547 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นต้นไป แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 497,972.40 บาท ตามที่โจทก์ขอในฟ้องถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวน 907,800 บาทและ 345,520 บาท ตามลำดับ แต่ทั้งนี้สำหรับดอกเบี้ยที่ค้างก่อนฟ้องเกินกว่า 5 ปี ต้องไม่บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่จำนองของจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า เรื่องจำนวนลังไม้ที่ว่าต่างราคากันและชนิดของลังไม้ที่จำเลยที่ 1 รับไปเมื่อใด ต้องคืนเมื่อใด เหลือเท่าใด นั้น เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา เพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่าจำเลยที่ 1 ซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วและยืมลังไม้ใส่ขวดแก้วจากโจทก์หลายคราวติดต่อกัน ตั้งแต่พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2522 เมื่อได้มีการคิดบัญชีกันปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งลังไม้คืนโจทก์จำนวน 54,788 ลัง คิดเป็นเงิน687,551 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าลังไม้ให้โจทก์เกินไป 4 บาทจึงเหลือจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเป็นค่าลังไม้โจทก์687,547 บาท ดังนี้ จึงเป็นคำฟ้องที่เข้าใจชัดแจ้งแล้วไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอีกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 649 เห็นว่า มาตรา 649 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างนั้น เป็นเรื่องความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปเช่น เรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับความชำรุดหรือเสื่อมราคาจากการใช้ทรัพย์ที่ยืมแต่ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกคืนลังไม้หรือราคาลังไม้ซึ่งจำเลยที่ 1 ยืมไปพร้อมผลิตภัณฑ์ขวดแก้วซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 1 ปฏิบัติกับโจทก์ตลอดมาตั้งแต่มีการตกลงซื้อขายกันจึงนำมาตรา 649 มาบังคับหาได้ไม่ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ…คงมีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีข้อความใดระบุว่าการจำนองนั้นเป็นประกันรวมถึงหนี้ค่าลังไม้ที่บรรจุผลิตภัณฑ์ขวดแก้วแต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าลังไม้ที่จำเลยที่ 1 ยืมเป็นอุปกรณ์สำหรับใส่ขวดแก้วจึงเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ขวดแก้วที่มีการซื้อขายกัน จำเลยที่ 2ต้องรับผิดเป็นการรับฟังพยานฝ่าฝืนข้อเท็จจริงในสำนวนและฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า… ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.1ก็ระบุเพียงว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ขวดแก้วของบริษัทอึ้งตั้งฮวดพานิช จำกัด แม้ขณะทำสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งค่าผลิตภัณฑ์ขวดแก้วและค่าลังไม้แต่เมื่อไม่ได้ระบุในสัญญาจำนองว่าเป็นการประกันการชำระหนี้ค่าลังไม้ด้วย และเป็นที่เห็นได้ชัดว่าลังไม้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ขวดแก้วทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งหรือเกี่ยวข้องอะไรกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ทำสัญญาจำนองประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนั้น กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเจตนาของคู่สัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.1 ยังเป็นที่สงสัยอยู่จำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเสียเปรียบในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11…
ในปัญหาเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาจำนองเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1ยืมลังไม้จากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเลขที่ 65294 ของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยที่ 3จำนองที่ดินของตนเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วจากโจทก์ในวันเดียวกับวันทำสัญญาจำนองเอกสารหมายจ.1 ก็ระบุเพียงว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ระบุในสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 การจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้รายเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้จำนองหนี้รายนี้ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3ผู้จำนองหนี้ดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิดด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์และฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 3ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้โจทก์ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน โฉนดเลขที่ 65294ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน อำเภอพญาไท กรมที่ดินให้จำเลยที่ 2 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์แทน ให้โจทก์คืนโฉนดดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์