คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9158/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การเพียงว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมากกว่า 10 ปีแล้ว ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิได้ต่อสู้ว่าโจทก์มิใช่บุคคลภายนอกและซื้อที่ดินที่พิพาทโดยไม่สุจริต โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6ว่ากระทำการโดยสุจริต แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นตามที่จำเลยให้การแต่เมื่อจำเลยมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียนขึ้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ แม้จำเลยจะยังครอบครอง ที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ เมื่อยังไม่ถึง 10 ปี สิทธิของจำเลยจึงยกขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1062เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา ร่วมกับนายสุเทพ จักรคุ้มนางสาวดาราวัลย์ จักรคุ้ม และนายมนตรี จักรคุ้ม โดยซื้อมาจากนายสมศักดิ์ รอดวัฒนกุล เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532เดิมจำเลยทั้งสองเป็นผู้เช่าที่ดินดังกล่าวจากนายสมศักดิ์ทำนาและเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 63 ซึ่งปลูกอยู่ที่ดินดังกล่าวเมื่อโจทก์กับพวกซื้อที่ดินแล้วจำเลยทั้งสองได้ขออาศัยอยู่ในที่ดินต่อไป โจทก์กับพวกตกลงยินยอม ต่อมาปี 2536 โจทก์กับพวกประสงค์จะรังวัดแบ่งแยกที่ดินเป็นส่วนสัด จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านออกจากที่ดิน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 63 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1062 ส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์และห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 63 พร้อมที่ดินประมาณ 1 ไร่ โดยบิดามารดายกให้มากว่า10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดขัดขวางขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 63 ออกจากที่ดินพิพาทส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าคำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นชอบแล้วหรือไม่นั้นเห็นว่า ตามคำฟ้องคำให้การคดีฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมศักดิ์ รอดวัฒนกุล เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน2532 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้ว จำเลยให้การเพียงว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมากกว่า 10 ปีแล้ว มิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์มิใช่บุคคลภายนอกและซื้อที่ดินที่พิพาทโดยไม่สุจริต โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริตดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่จำเลยให้การว่า จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียนขึ้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง แม้จำเลยจะยังครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ ซึ่งก็ยังไม่ถึง 10 ปี สิทธิของจำเลยจึงยกขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ คดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องสืบพยานต่อไป การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาคดีไปจึงชอบแล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อที่ว่าโจทก์มิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไว้โดยสุจริตนั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงจากคำฟ้องโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่าโจทก์กระทำการซื้อขายโดยสุจริต กล่าวคือได้มีการเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและมีการจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อจำเลยมิได้กล่าวแก้มาในคำให้การว่า โจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ การที่จำเลยหยิบยกปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share