คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9151/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่3.5มีข้อความว่าพนักงานผู้ใดมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสอบสวนหรือถูกฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาเว้นแต่คดีความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาทฯลฯก็ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งฯลฯให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาได้และวรรคสองมีข้อความว่าแต่ถ้าภายหลังศาลพิพากษาว่ามีความผิดหรือสอบสวนพิจารณาได้ความเป็นสัตย์ที่จะต้องลงโทษไล่ออกปลดออกหรือให้ออกหรือเป็นกรณีที่จะต้องให้ออกจากงานด้วยเหตุอื่นก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นไล่ออกปลดออกหรือให้ออกให้ตรงตามข้อบังคับถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนมิได้มีความผิดเลยหรือมีความผิดและไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากงานด้วยเหตุอื่นให้ผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ออกจากงานสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าทำงานตามเดิมแต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและกรณีของจำเลยที่2ได้กระทำผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์เสียหายจึงไม่อยู่ในบังคับของข้อบังคับดังกล่าวให้โจทก์รับจำเลยที่2กลับเข้าทำงานและกรณีผิดสัญญาจ้างก็ไม่มีข้อบังคับห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่2ให้รับผิดในทางแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีนายสมหมาย ตามไทเป็นผู้ว่าการมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งนายตรวจกลตรี แขวงซ่อมบำรุงรถจักรดีเซลบางซื้อ กองลากเลื่อนฝ่ายการช่างกล มีหน้าที่ตรวจซ่อมบำรุงรักษารถจักรดีเซล จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานควบคุมข่ายตรี ย่านบางซื่อฝ่ายการเดินรถ มีหน้าที่ควบคุมขบวนรถเข้าออกย่านบางซื่อโดยปิดเปิดประแจกล และเครื่องตกราง จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดสัญญาจ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2529 ประมาณ 8 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ได้ติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลหมายเลข 4044เพื่อทำการซ่อมขณะจอดอยู่ในโรงรถจักรดีเซลบางซื่อ ซึ่งพ่วงติดกับรถจักรดีเซลหมายเลข 4029, 4042, 4010, 4006 และ4043 โดยก่อนที่จำเลยที่ 1 จะติดเครื่องยนต์จะต้องตรวจดูเสียก่อนว่าเครื่องยนต์อยู่ในท่าตามข้อกำหนดหรือไม่ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถกระทำได้แต่หาได้กระทำไม่และหลังจากจำเลยที่ 1 ติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลหมายเลข4044 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ลงจากรถจักรดีเซลไปโดยไม่มีผู้ควบคุมเครื่องยนต์และไม่ดับเครื่องยนต์เพื่อป้องกันอันตรายเป็นเหตุให้รถจักรดีเซลหมายเลข 4044แล่นลากรถจักรที่พ่วงติดอยู่ออกจากโรงรถจักรดีเซลบางซื่อไปโดยไม่มีผู้ควบคุม ในเวลาเดียวกันจำเลยที่ 2ได้กลับประแจกลไฟฟ้าเลขที่ 33 ก. และเครื่องตกรางหมายเลข 1การกลับประแจ และเครื่องตกรางของจำเลยที่ 2 ทำให้รถจักรที่อยู่ในโรงรถจักรบางซื่อแล่นออกไปสู่ย่านสถานีบางซื่อ การกลับประแจ และเครื่องตกรางของจำเลยที่ 2 นี้ไม่มีผู้ร้องขอ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์เป็นเหตุให้รถจักรดีเซลทั้ง 6 คันแล่นออกไปสู่ย่านสถานีบางซื่อและได้เข้าไปยังสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ระหว่างที่รถจักรดีเซลทั้ง 6 คัน แล่นจากโรงรถจักรดีเซลบางซื่อผ่านสถานีบางซื่อถึงสถานีกรุงเทพ ได้เฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ ทรัพย์สิน ชีวิต และร่างกายของผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะนายจ้างได้จ่ายค่าเสียหายและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายไปเป็นเงินทั้งสิ้น 3,533,388.25 บาทจำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 และวันที่ 8 ธันวาคม 2529 ตามลำดับ และได้หักเงินที่จำเลยทั้งสองจะได้รับจากโจทก์ไว้เป็นเงิน 57,018.52 บาทและ 26,207.55 บาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์โจทก์จึงยังคงเสียหายอยู่เป็นเงิน 3,450,162.18 บาทโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2529 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 ปี 2 เดือน 25 วัน เป็นเงินดอกเบี้ย 1,872,185.32 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 5,322,347.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน3,450,162.18 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์มีนโยบายว่าหากมีการลงโทษทางวินัยแล้วให้ระงับการชดใช้ค่าเสียหายตามบันทึกรายงานการประชุม คณะกรรมการโจทก์ครั้งที่ 23/2522 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทางคณะกรรมการสอบสวนเหตุอันตรายของโจทก์ที่แต่งตั้งขึ้นทราบดีว่า อะไรคืออะไร การที่จำเลยที่ 1ได้รับคำพิพากษาให้จำคุกน่าจะเพียงพอหรือเกินกว่าโทษทัณฑ์ที่ควรจะได้รับอยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างดังฟ้องของโจทก์ การเปิดประแจกลไฟฟ้าเลขที่ 33 ก. และเครื่องตกรางหมายเลข 1 จำเลยที่ 1กระทำไปเพราะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางของโจทก์ร้องขอให้เปิดประแจ และเหล็กตกรางเพื่อนำรถบำรุงทางขนาดเล็กบรรทุกอุปกรณ์ในการซ่อมทางเข็นเข้าสู่จุดซ่อมทาง การเปิดประแจ และเครื่องตกรางดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเลยที่ 2สามารถกระทำได้เพื่ออำนวยความสะดวกในการซ่อมทางไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 2 มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคณะกรรมการโจทก์ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของโจทก์มีมติตามบันทึกรายงานการประชุมครั้งที่ 23/2522 ลงวันที่1 พฤศจิกายน 2522 ว่ากรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นเพราะความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติงานหากมีการพิจารณาลงโทษทางวินัยแล้ว ให้ระงับการเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย มติของคณะกรรมการโจทก์เป็นสภาพการจ้างมีผลบังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เหตุเกิดเมื่อวันที่8 พฤศจิกายน 2529 คณะกรรมการสอบสวนรายงานผลการสอบสวนให้โจทก์ทราบในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529โจทก์มีคำสั่งให้นำผลการสอบสวนเข้าพิจารณาในที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงาน (ด้านปกครอง) ครั้งที่14/2529 เมื่อวันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน 2529ที่ประชุมมีมติว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องของจำเลยทั้งสองจึงถือได้ว่าอย่างช้าที่สุดโจทก์ได้ทราบการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 แล้วจำเลยทั้งสองถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลอาญา คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 อายุความฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสี่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 เกินกว่า 1 ปีฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กลับประแจ และเครื่องตกรางโดยไม่มีผู้ร้องขออันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ เป็นเหตุให้รถจักรดีเซล6 คัน แล่นออกไปสู่ย่านสถานีบางซื่อ ระเบียบของโจทก์มีว่าอย่างไรโจทก์ไม่บรรยาย เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมโจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจซ่อมบำรุงรักษารถจักรดีเซล จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมประแจกล ไฟฟ้าเลขที่ 33 ก. และเครื่องตกรางหมายเลข 1 จำเลยที่ 1ได้ติดเครื่องยนต์รถจักรดีเซลหมายเลข 4044ซึ่งพ่วงติดกับรถจักรดีเซลอีก 5 คัน แล้วจำเลยที่ 1ลงจากรถไปโดยไม่ดับเครื่องยนต์ และไม่มีผู้ควบคุม เป็นเหตุให้รถจักรที่ติดเครื่องดังกล่าวลากรถจักรที่พ่วงอีก 5 คันออกจากโรงจักรบางซื่อเข้าสู่ย่านสถานีบางซื่อและผ่านสถานีบางซื่อมุ่งหน้าผ่านประแจกล เลขที่ 33 ก.และเครื่องตกรางหมายเลข 1 เข้าถึงสถานีกรุงเทพชนทรัพย์สินของโจทก์และของผู้อื่นเสียหาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายทั้งนี้จำเลยที่ 2 เปิดประแจกล ไฟฟ้าและเครื่องตกรางไว้ตั้งแต่เวลา 8.10 นาฬิกาแล้วไม่ปิดทันทีแต่กลับปล่อยทิ้งไว้จนถึงเวลา 8.43 นาฬิกา เป็นเหตุให้หัวรถจักรดีเซลที่ติดเครื่องและหัวรถจักรที่พ่วงรวม 6 คันดังกล่าวได้แล่นผ่านออกไป หากจำเลยที่ 2 ได้ปิดประแจกล ไฟฟ้าและเครื่องตกรางในทันที รถจักรดีเซลและรถจักรพ่วงดังกล่าวที่จะแล่นผ่านออกไปไม่ได้และจะตกรางทันที จำเลยที่ 2กระทำผิดสัญญาจ้าง จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,533,388.50 บาท เมื่อหักเงินที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับจากโจทก์แล้วจำเลยทั้งสองคงต้องร่วมรับผิดเป็นเงิน 3,450,162.43 บาท โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการฟ้องฐานผิดสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหายมีอายุความ 10 ปีฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 3,450,162.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี สำหรับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2530 จำเลยที่ 2นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า เมื่อศาลในส่วนคดีอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และโจทก์มีข้อบังคับให้ถือคำพิพากษาดังกล่าวเป็นหลัก คือข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 3.5 ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) ตามเอกสารหมายจ.14 ข้อ 6 ทวิ วรรคสอง ตอนท้ายซึ่งแปลได้ว่า ในการดำเนินคดีอาญาหากจำเลยผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดโจทก์ต้องรับจำเลยผู้ถูกกล่าวหากลับเข้าทำงานตามเดิมโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ให้รับผิดใช้ค่าเสียหายอีกนั้น พิเคราะห์แล้วข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.14ข้อ 6 ทวิ มีข้อความว่า พนักงานผู้ใดมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสอบสวนหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่คดีความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ฯลฯ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่ง ฯลฯ ให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาได้ และวรรคสองมีข้อความว่าแต่ถ้าภายหลังศาลพิพากษาว่ามีความผิด หรือสอบสวนพิจารณาได้ความเป็นสัตย์ ที่จะต้องลงโทษไล่ออก ปลดออกหรือให้ออก หรือเป็นกรณีที่จะต้องให้ออกจากงานด้วยเหตุอื่นก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นไล่ออก ปลดออกหรือให้ออก ให้ตรงตามข้อบังคับ ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนมิได้มีความผิดเลยหรือมีความผิดและไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากงานด้วยเหตุอื่น ให้ผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ออกจากงานสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าทำงานตามเดิม ดังนี้ เห็นว่า คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และกรณีของจำเลยที่ 2ได้กระทำผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์เสียหาย จึงไม่อยู่ในบังคับของข้อบังคับดังกล่าวให้โจทก์รับจำเลยที่ 2กลับเข้าทำงาน และกรณีผิดสัญญาจ้างก็ไม่มีข้อบังคับห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในทางแพ่ง
พิพากษายืน

Share