แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีของเทศบาลโจทก์ถ้าสั่งไปตามข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ย่อมไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 และวันที่ 21 พฤษภาคม 2536โจทก์ได้ประกาศให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและประกาศรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรี โดยรับสมัครตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2536 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2536 และกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 11 กรกฎาคม 2536 ปรากฏว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรีทั้งหมด 61 คนซึ่งมีนายบุญสม วงษ์คำอินทร์ นายณรงค์ศักดิ์ คำแพร และนายกิตติ ปภัสโรบล ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 19, 20และ 57 ด้วย ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2536 นายบุญสมนายณรงค์ศักดิ์ และนายกิตติ ได้ขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรี จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในขณะนั้นได้อนุญาตให้นายบุญสมและนายณรงค์ศักดิ์ถอนการสมัครรับเลือกตั้งและลงนามในประกาศให้ประชาชนทราบ ส่วนนายกิตตินั้น จำเลยไม่อนุญาตให้ถอนการสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการใช้ดุลพินิจและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบครั้นวันที่ 11 กรกฎาคม 2536นายกิตติได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรีหลังจากนั้นนายศักดิ์ น้อยพานิช ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกิตติเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรี ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่านายกิตติมิได้รับเลือกตั้งโดยชอบตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ. 2482 ให้เทศบาลเมืองราชบุรีประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลแทนนายกิตติภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งศาล ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรีจนเสร็จสิ้น โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 288,094.60 บาท การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน288,094.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า นายกิตติ ปภัสโรบล ไม่ได้ยื่นคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้นายราเชน สังข์เพชร ดำเนินการแทน แต่นายราเชนก็ไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำร้องดังกล่าว กลับเป็นสิบตรีเทพนภาถิ่นมธุรส เป็นผู้ยื่นคำร้องและให้ถ้อยคำบันทึกข้อเท็จจริงแก่โจทก์ ทำให้เกิดมีข้อพิรุธน่าสงสัย จำเลยจึงมีความเห็นสั่งในคำร้องของนายกิตติว่านายกิตติควรยื่นคำร้องขอถอนการสมัครด้วยตนเอง และให้โจทก์มีหนังสือแจ้งให้นายกิตติทราบโดยด่วน อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยถูกต้องและป้องกันความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามระเบียบและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งต่อมานายกิตติได้ทำหนังสือยืนยันว่าไม่ได้มีความประสงค์ขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลอันทำให้โจทก์และจำเลยพิจารณาอนุญาตให้ถอนคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลก็เป็นการกระทำโดยสุจริต จำเลยจึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยการที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งตามคำพิพากษาของศาลและเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลที่ว่างลงอีกหนึ่งตำแหน่งเนื่องจากสมาชิกสภาเทศบาลถึงแก่ความตายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 มีนาคม 2538 ประกอบเอกสารที่โจทก์อ้างส่งได้ความว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2536 นายกิตติ ปภัสโรบลได้ทำคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรีตามเอกสารหมาย จ.12 และในวันดังกล่าวสิบตรีเทพนภา ถิ่นมธุรสได้นำคำร้องดังกล่าวไปยื่นต่อปลัดเทศบาลเมืองราชบุรีแต่ยังไม่มีการดำเนินการเพราะเป็นวันหยุดราชการ ต่อมาวันที่5 กรกฎาคม 2536 โจทก์ได้ลงรับคำร้องตามเอกสารหมาย จ.12นายจุมพล ธรรมมา เจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลเมืองราชบุรีและนายสุธิกะ รอดสวัสดิ์ ปลัดเทศบาลเมืองราชบุรีได้มีความเห็นเสนอจำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรีในขณะนั้นว่าควรอนุญาต จำเลยได้พิจารณาแล้วได้บันทึกสอบถามนายจุมพลว่ารับหนังสือนี้ผู้ถอนยื่นเองหรือเปล่าและรับหนังสือนี้ตั้งแต่เมื่อใด ขอให้ชี้แจงให้ละเอียด นายจุมพลได้ชี้แจงจำเลยว่าได้รับคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวจากปลัดเทศบาลเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ของวันที่ 4 กรกฎาคม 2536 โดยปลัดเทศบาลแจ้งว่าได้รับคำร้องนี้จากนายกิตติมายื่นด้วยตนเองได้ให้นายจุมพลลงรับในวันที่ 5 กรกฎาคม 2536 เวลา 8.00 นาฬิกาพร้อมทั้งให้นายจุมพลเสนอความเห็นเพื่อพิจารณาสั่งการ ในวันเดียวกันสิบตรีเทพนภาได้นำหนังสือมอบอำนาจระหว่างนายกิตติกับนายราเชน สังข์เพชร ตามเอกสารหมาย จ.13 มามอบให้โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้สอบสวนสิบตรีเทพนภาตามบันทึกสอบสวนข้อเท็จจริงเอกสารหมาย จ.14 ได้ความว่านายกิตติได้นำคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมามอบให้สิบตรีเทพนภาเพื่อนำมายื่นต่อปลัดเทศบาลแทน สิบตรีเทพนภาได้นำคำร้องดังกล่าวไปยื่นต่อปลัดเทศบาลเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม2536 แต่ไม่พบ จึงนำไปฝากไว้กับเด็กที่อยู่ในบ้านพักปลัดเทศบาลปลัดเทศบาลได้เสนอจำเลยว่าเห็นควรอนุญาตให้ถอนการสมัครได้จำเลยได้บันทึกสั่งการในวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 ว่า ตามที่เทศบาลได้รับคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท)ที่ลงชื่อนายกิตติ ปภัสโรบล เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2536เวลา 8.30 นาฬิกา และเทศบาลได้รับหนังสือมอบอำนาจที่ลงชื่อนายกิตติมอบอำนาจให้นายราเชน สังข์เพชร เป็นผู้มีอำนาจยื่นถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ท.แทนตัวเอง ประกอบกับบันทึกสอบสวนข้อเท็จจริงของสิบตรีเทพนภาที่ได้ให้ถ้อยคำต่อปลัดเทศบาลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2536 และเทศบาลได้รับไว้เมื่อเวลา 15.30 นาฬิกา โดยมีข้อความยืนยันว่าสิบตรีเทพนภาเป็นผู้มายื่นคำร้องมิใช่นายราเชนผู้รับมอบอำนาจจากนายกิตติมายื่นนั้น ผมได้ตรวจสอบพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 24 วรรคแรก บัญญัติว่าจึงเห็นว่ากรณีเช่นนี้ นายกิตติน่าจะมาถอนการสมัครด้วยตนเองแต่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล สิบตรีเทพนภายืนยันเป็นผู้ยื่นให้ปลัดเทศบาลประกอบกับมีหนังสือมอบอำนาจการยื่นถอนการสมัครให้แก่นายราเชนเป็นผู้ยื่นแทนแต่ไม่ได้มายื่น กลับเป็นสิบตรีเทพนภาเป็นผู้นำมาแสดง น่าจะไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงควรมีหนังสือแจ้งให้นายกิตติยื่นคำร้องและดำเนินการตามความประสงค์ด้วยตนเองโดยด่วน ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2536 นายกิตติได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลอ้างว่า “ตามที่ข้าพเจ้านายกิตติได้ลงชื่อในคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ท. โดยไม่ได้กรอกข้อความรายละเอียดใด ๆลงไป แต่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นได้นำมายื่นแสดงแทนข้าพเจ้านั้นข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าไม่สมัครใจที่จะถอนการสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เซ็นชื่อโดยไม่ได้กรอกข้อความ”ปลัดเทศบาลได้เสนอจำเลยว่าเมื่อนายกิตติแสดงความจำนงขอถอนคำร้องถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ควรอนุญาตให้ถอนได้จำเลยจึงมีคำสั่งให้ดำเนินการตามเสนอ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.16เห็นว่า คำสั่งของจำเลยดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น จำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งปรากฏว่าต่อมานายกิตติก็ยืนยันว่าไม่สมัครใจถอนการสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าว นายกิตติลงลายมือชื่อในคำร้องขอถอนการสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้กรอกข้อความ คำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นการสั่งตามข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน