คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การขายฝากที่ดินพิพาทจะมีการทำนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ราคาขายฝากที่ดินต่ำกว่าราคาตลาด ทั้ง ส. ซึ่ง จ.ผู้ขายฝากอ้างว่าเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น ก็เป็นญาติกับจำเลยผู้รับซื้อฝาก และราคาขายฝากนั้นจำเลยยอมรับว่าได้นำหนี้ของ ส. มารวมเข้าในราคาขายฝากด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นหนี้เท่าใด รวมทั้งไม่มีหลักฐานการเป็นหนี้มาแสดง นอกจากนี้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์เสนอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนในราคา 8,000,000 บาท แต่จำเลยไม่ยินยอม อันแสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทมีราคาสูงกว่าราคาที่ขายฝาก ตามพฤติการณ์แห่งคดีพอรับฟังได้ว่าจำเลยรับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินดังกล่าวด้วย หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10742, 10743, 10744, 10745, 10746, 10747, 10748, 10749, 10750, 10751, 10752, 10753, 10754, 10755, 10756, 10757, 10758, 10759, 10760, 10761, 10762, 10763, 12159 และ 18567 ตำบลเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 และวันที่ 14 กันยายน 2552 ทั้งนี้ให้เพิกถอนเฉพาะในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการคนละครึ่ง หากจำเลยไม่ไปดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยให้จำเลยรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายกึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายจันทร์กับโจทก์นั้นชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยรับซื้อฝากที่ดินพิพาททั้ง 24 แปลง จากนายจันทร์ โดยไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจันทร์ นายจันทร์บอกแก่จำเลยว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่ผู้เดียว ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการปฏิเสธโดยชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของนายจันทร์ มิใช่เป็นสินสมรสอย่างที่โจทก์อ้างในฟ้อง เห็นว่า การจัดการทรัพย์สินที่จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 หากเป็นการจัดการเกี่ยวกับสินส่วนตัว คู่สมรสฝ่ายนั้นย่อมจัดการได้เองตามมาตรา 1473 คดีนี้แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ดังที่จำเลยอ้าง แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อไปในตอนท้ายของข้อ 1 ว่า ในวันจดทะเบียนขายฝาก นายจันทร์ได้พานางสุวรรณาไปที่สำนักงานที่ดินแล้วแจ้งต่อจำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการจดทะเบียนขายฝากว่าเป็นคู่สมรสของตนเพื่อให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม จำเลยจึงเชื่อโดยสุจริตว่าคู่สมรสของนายจันทร์ได้ให้ความยินยอมแล้ว และนายจันทร์มีอำนาจขายฝาก เมื่ออ่านคำให้การของจำเลยโดยรวมทั้งหมดแล้ว เหตุแห่งการปฏิเสธไม่เป็นไปทางใดทางหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นสินสมรสระหว่างนายจันทร์กับโจทก์แต่อย่างใด เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายจันทร์กับโจทก์หรือไม่ และต้องถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของโจทก์ในฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ปัญหานี้จึงไม่เป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยรับซื้อฝากที่ดินพิพาททั้ง 24 แปลงตามฟ้อง โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ โจทก์มีนางสุวรรณา เป็นพยานเบิกความว่า พยานอยู่กินฉันสามีภริยากับนายจันทร์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ต่อมานายจันทร์มีความจำเป็น ต้องใช้เงิน จึงไปขอยืมเงินจำเลย โดยนำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันและรับเงินกู้จำนวนไม่ถึง 4,000,000 บาท แต่ไม่ทราบเหตุผลว่าเหตุใดสัญญาขายฝากจึงระบุจำนวนเงิน 6,000,000 บาท นางสาวชุติมา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า หลังทราบเรื่องได้ติดต่อจำเลยเพื่อขอไถ่ถอน แต่จำเลยปฏิเสธและเรียกค่าเสียหาย 12,000,000 บาท ส่วนจำเลยเบิกความว่า ทำการรับซื้อฝากที่ดินพิพาทในราคา 6,000,000 บาท โดยนำหนี้ที่นางสุวรรณาเป็นหนี้มารวมเข้าในราคารับซื้อฝากด้วย เห็นว่า แม้การขายฝากที่ดินพิพาทจะมีการทำนิติกรรมต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ว่า ราคาขายฝากที่ดินต่ำกว่าราคาตลาด ทั้งนางสุวรรณาซึ่งนายจันทร์ผู้ขายฝากอ้างว่าเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น ก็เป็นญาติจำเลยผู้รับซื้อฝาก และราคาขายฝากนั้นจำเลยยอมรับว่าได้นำหนี้ของนางสุวรรณามารวมเข้าในราคาขายฝากด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นหนี้เท่าใด รวมทั้งไม่มีหลักฐานการเป็นหนี้มาแสดง นอกจากนี้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์เสนอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนในราคา 8,000,000 บาท แต่จำเลยไม่ยินยอม อันแสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทมีราคาสูงกว่าราคาที่ขายฝาก ตามพฤติการณ์แห่งคดีพอรับฟังได้ว่าจำเลยรับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในประเด็นข้อนี้ นางชุติมาผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า ทราบเรื่องการขายฝากที่ดินเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2554 โดยทราบจากการที่นายจันทร์กับนางสุวรรณาไปพบเพื่อขอยืมเงินไปไถ่ถอนที่ดินพิพาทที่ขายฝากกับจำเลย โดยโจทก์มีนางสุวรรณามาเบิกความเป็นพยานได้ความทำนองเดียวกัน ส่วนจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้รับฟังเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เพิ่งทราบเรื่องการขายฝากที่ดินพิพาทเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2554 การที่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายที่ว่า โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝาก แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องนายจันทร์ผู้ทำนิติกรรมขายฝากและไม่ได้นำนายจันทร์มาเป็นพยานในคดี เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในประเด็นดังกล่าวไว้ จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share