คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 28 แห่ง พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ.2457บัญญัติให้ผู้ใหญ่บ้านท้องที่มีอำนาจและหน้าที่การงานในเขตท้องที่ของตนและ พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486 มาตรา 6 เพิ่มหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเข้าไว้อีกตามข้อ 18 ว่า’ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของกำนันหรือทางราชการฯ’ประกอบกับคำปลัดอำเภอพยานโจทก์ว่าผู้ใหญ่บ้านทุกคนมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในท้องที่ของตนและต้องรายงานให้อำเภอทราบ
จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นเจ้าพนักงานท้องที่ตาม กฎหมายเมื่อพาผู้ต้องหาในคดีลักและฆ่ากระบือไปส่งอำเภอระหว่างทางจำเลยจัดการให้ผู้เสียหายกับผู้ต้องหาเลิกคดีกันโดยผู้ต้องหายอมใช้ราคาค่าเสียหายจำเลยปล่อยผู้ต้องหาโดยจัดทำสัญญาประนีประนอมให้เลิกคดีกันปิดข้อเท็จจริงเรื่องลักทรัพย์และฆ่ากระบือเป็นเรื่องทำให้เสียทรัพย์โดยไม่เจตนา คือปิดข้อเท็จจริงซึ่งเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินไม่มีทางเลิกกันได้ให้เป็นความผิดส่วนตัวที่เลิกกันได้ตามกฎหมายเช่นนี้จำเลยได้ชื่อว่ากระทำการอันไม่ควรกระทำและมีเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิดไม่ให้ต้องรับโทษการกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับราชการเป็นผู้ใหญ่บ้าน จำเลยมีหน้าที่ควบคุมตัวนายลพซึ่งต้องหาว่าลักกระบือของนายแสงและมีหน้าที่ต้องรักษาทรากกระบืออันเป็นสักขีพยานไว้เป็นของกลางเพื่อนำส่งพนักงานสอบสวนอำเภอเมืองเลย และมีหน้าที่รายงานคดีเรื่องนี้ให้พนักงานสอบสวนทราบ แต่จำเลยได้เพทุบายกระทำการที่ไม่ควรทำโดยปล่อยนายลพกับพวกไปและเอาทรากกระบือแจกจ่ายกันระหว่างพวกจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาและของกลางให้พนักงานสอบสวนและไม่รายงานให้พนักงานสอบสวนทราบโดยมีเจตนาจะช่วยผู้กระทำผิดมิให้ต้องรับอาญาตามกฎหมายเพราะจำเลยมีหน้าที่สืบเสาะคดีที่มีความผิดต่อกฎหมายขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญา มาตรา 142, 154

จำเลยรับว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านได้คุมตัวนายลพกับพวกมาครึ่งทางนายลพกับพวกยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็ยอมจำเลยจึงทำหนังสือประนีประนอมยอมความไม่เอาเรื่องกันซึ่งจำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้ หาใช่มีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ไม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่เพียงแต่แจ้งเหตุที่เกิดขึ้นต่อกำนันนายตำบลเท่านั้น และเมื่อจับผู้กระทำผิดได้ก็ต้องนำส่งกำนันหามีบทบัญญัติให้จำเลยนำส่งต่อเจ้าพนักงานสอบสวนไม่เว้นแต่จะมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการให้จำเลยทำเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงในคดีไม่ปรากฏว่า กำนันหรืออำเภอได้สั่งให้จำเลยนำผู้ต้องหาไปส่งอำเภอหรือพนักงานสอบสวนจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะนำตัวผู้ต้องหาส่งหรือรายงานต่อเจ้าพนักงานสอบสวนดังโจทก์ฟ้องข้อเท็จจริงที่ได้ความมายังไม่พอจะถือว่าจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายอาญา มาตรา 142 ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 237/2482,868/2493 พิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลย

โจทก์ฎีกาว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องรายงานคดีที่เกิดขึ้นให้กรมการอำเภอทราบ แม้จะไม่มีระบุไว้ชัดแจ้งในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 แต่พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 2) 2486 มาตรา 6ได้เพิ่มหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านเข้าไว้อีกตามข้อ 18 ว่า “ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของกำนันหรือทางราชการ ฯลฯ” ตามคำให้การของจำเลยเป็นการยอมรับโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีหน้าที่จับกุมนายลพกับพวกส่งพนักงานสอบสวนและได้ความจากนายสมปลัดอำเภอพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่าผู้ใหญ่บ้านทุกคนมีหน้าที่รายงานคดีที่เกิดขึ้นให้กรมการอำเภอทราบ คดีของโจทก์ควรฟังว่าจำเลยมีหน้าที่ตามฟ้องของโจทก์ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 262/2495 คดีระหว่างอัยการอุดรธานี โจทก์นายกอง จำเลย จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับมอบหมายนายลพกับพวกจากผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายกับพวกจับมามอบโดยกล่าวหานายลพกับพวกลักและฆ่ากระบือ 1 ตัวของผู้เสียหายพร้อมด้วยทรากกระบือของกลาง จำเลยนำตัวผู้เสียหายไปส่งอำเภอเมื่อพาไประหว่างทาง จำเลยจัดการให้ผู้เสียหายกับผู้ต้องหาเลิกคดีกันโดยผู้ต้องหายอมใช้ราคากระบือให้ จำเลยจึงปล่อยตัวผู้ต้องหาไปไม่ส่งอำเภอโดยจำเลยจัดการทำสัญญาประนีประนอมให้เลิกคดีกัน ปิดผันข้อเท็จจริงเรื่องลักกระบือเป็นเรื่องทำให้เสียทรัพย์โดยไม่เจตนาเป็นเรื่องว่าผู้ต้องหาไปล่าสัตว์ป่าและเห็นตากระบือเป็นตาสัตว์ป่าจึงยิงไปถูกกระบือของผู้เสียหายตาย ผู้ต้องหาจึงยอมใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายเป็นเงิน300 บาท นั้น

มาตรา 142 บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานคนใดท่านใช้ให้มีหน้าที่สืบเสาะไต่สวนหรือฟ้องร้องคดีที่มีความผิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายและมันเพทุบายกระทำการที่ไม่ควรจะกระทำหรือเว้นการที่ไม่ควรเว้นด้วยเจตนาจะช่วยผู้ผิดมิให้ต้องรับอาญาตามกฎหมายไซร้ ท่านว่ามันมีความผิด ฯลฯ”

และ มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ. 2457 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ใหญ่บ้านท้องที่มีอำนาจและหน้าที่การงานในเขตท้องที่ของตน และ พระราชบัญญัติปกครองท้องที่(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2486 มาตรา 6 เพิ่มหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเข้าไว้อีกตามข้อ 18 ว่า “ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของกำนัน หรือทางราชการ ฯลฯ “ประกอบกับคำปลัดอำเภอพยานโจทก์ว่าผู้ใหญ่บ้านทุกคนมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในท้องที่ของตนและต้องรายงานให้อำเภอทราบดังนี้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตามกฎหมาย กับจัดการปล่อยผู้ต้องหาให้พ้นจากความผิดไปโดยทำสัญญาเลิกคดีอาญาแผ่น บิดผันข้อเท็จจริงให้เป็นเรื่องความผิดต่อส่วนตัวซึ่งเลิกคดีกันได้ตามกฎหมายแต่ความจริงมิใช่เป็นความผิดต่อส่วนตัวไม่มีทางเลิกได้ จำเลยกระทำการที่ไม่ควรกระทำเช่นนี้ส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิให้ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดตาม มาตรา 142

พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share