คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 910/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าที่ กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 237 คุ้มครองไว้นั้น ย่อมหมายถึงเครื่องหมายที่ได้ใช้แล้วกับสินค้า รอยรูป,ขีดเขียนที่ประดิษฐ์ขึ้นแล้ว เก็บไว้โดยยังมิได้ใช้ในการค้าอย่างใดๆ นั้น หาได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่
ในคดีมูลละเมิดฐานทำให้โจทก์เสียหายต่อร่างกายและเสรีภาพนั้นโจทก์จะต้องสืบให้ได้ความว่า จำเลยได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำให้โจทก์ต้องเสียหายต่อร่างกายและเสรีภาพ เพียงแต่ได้ความว่าโจทก์ถูกตำรวจจับไป เนื่องจากคำซัดทอดของผู้อื่นซึ่งจำเลยแจ้งความให้จับ โดยจำเลยไม่ทราบว่าเกี่ยวเนื่องถึงโจทก์ด้วยนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์
ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อนายทะเบียนโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายดีกว่า ผู้ขอจดทะเบียนนั้น เป็นการใช้สิทธิในการคัดค้านโดยสุจริต

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์คิดเครื่องหมายอย่างหนึ่งไว้ตั้งใจสำหรับสินค้าของโจทก์ แต่ได้งดไว้ไม่ใช้ ต่อมาจำเลยได้ทำสินค้าของจำเลยออกจำหน่าย และใช้เครื่องหมายอย่างเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับที่โจทก์คิดไว้ โดยจำเลยเคยทำงานอยู่ในร้านโจทก์มาก่อนแล้วออกมาตั้งร้านจำหน่ายสินค้าของจำเลยเอง จำเลยจำหน่ายสินค้าของจำเลย โดยมีเครื่องหมายการค้าที่พิพาทนี้สัก 3-4 เดือน โจทก์นำสินค้าของโจทก์มีเครื่องหมายการค้าที่พิพาทออกจำหน่ายที่ร้านยี่ห้อไต้หลี พร้อมกันนั้นโจทก์ได้ไปร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตเพราะอยู่ในระหว่างโฆษณา จำเลยได้ไปแจ้งความแก่ตำรวจว่าร้านยี่ห้อไต้หลีเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตำรวจจึงจับตัวนายหง่าผู้จัดการร้านยี่ห้อไต้หลีมาสอบสวน นายหง่าให้การว่า ยี่ห้อไต้ไฮ้ของโจทก์ส่งสินค้า ซอง กล่องมาให้นายหง่าบรรจุจำหน่ายตำรวจจึงจับโจทก์มา ต่อมาอัยการและจำเลยได้ฟ้องโจทก์และนายหง่าเป็นคดีอาญาหาว่าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยละเมิดทำให้โจทก์เสื่อมเสียอิสระภาพและชื่อเสียงและในการที่จำเลยไปคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้

ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าของจำเลยในการค้าขายแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ไปแจ้งความว่ามียี่ห้อไต้หลีเลียนยี่ห้อการค้าของจำเลย การที่ตำรวจไปจับโจทก์ ก็เนื่องจากนายหง่า แห่งยี่ห้อไต้หลี ซัดทอดไปถึงโจทก์เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะแจ้งความจำเลยได้รู้อยู่แล้ว สินค้าที่ยี่ห้อไต้หลีออกจำหน่ายนั้นได้เอามาจากโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่า จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์

ส่วนในเรื่องจำเลยไปคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นปรากฏตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน และตามมาตรา 22(ก) ได้บัญญัติให้อำนาจผู้อื่นยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนได้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ในการคัดค้านของจำเลย ๆ ได้กระทำโดยเจตนาร้ายต่อโจทก์อย่างใด

กลับปรากฎรูปทำให้เห็นว่า จำเลยคิดว่า มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าโจทก์เช่นนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยได้ใช้สิทธิในการคัดค้านโดยสุจริต จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share