แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า สัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 6306, 16848 และ 16489 (ที่ถูก 16849) ตำบลคลองตัน (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2555 เป็นนิติกรรมอำพรางและเป็นโมฆะ ให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนหรือไถ่ถอน หากจำเลยไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ก่อนสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2091/2558 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาแล้ว
ศาลชั้นต้น เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2091/2558 พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ในคดีก่อนที่จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่โจทก์คดีนี้กับพวกออกจากที่ดินพิพาท มีประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่หรือไม่ ซึ่งจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์ในคดีก่อนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงหรือไม่ โดยโจทก์ในคดีก่อนอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทสามแปลงมาจากจำเลยที่ 1 (โจทก์คดีนี้) ตามสัญญาขายฝากเพราะเหตุไม่ไถ่ถอนภายในกำหนด ส่วนจำเลยทั้งสามในคดีก่อนให้การว่า สัญญาขายฝากที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองย่อมตกเป็นโมฆะ ดังนั้น ศาลในคดีก่อนมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามหรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาขายฝากไม่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนอง และจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนไม่ไถ่ถอนที่ดินพิพาทภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญา ที่ดินพิพาทก็ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ในคดีก่อนซึ่งเป็นผู้ซื้อฝากโดยเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 โจทก์ในคดีก่อนย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้ ปัญหาที่ว่าสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองหรือไม่ จึงเป็นปัญหาที่รวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ที่ศาลกำหนดไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามหรือไม่ เพียงใด ด้วยเหตุดังกล่าวศาลในคดีก่อนจึงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาว่าสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองได้โดยไม่ถือว่าเป็นการพิจารณาและพิพากษานอกประเด็นหรือนอกคำฟ้อง ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนนำเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทสามแปลงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองย่อมตกเป็นโมฆะและขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ศาลในคดีนี้จะเพิกถอนสัญญาขายฝากหรือไม่ จำต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทได้ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนอง และขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาขายฝากที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองอีก และขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝากดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลในคดีก่อนเคยวินิจฉัยมาแล้ว ย่อมถือว่าการดำเนินคดีนี้ของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2091/2558 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ประเด็นตามคำฟ้องในคดีนี้ว่า สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และจำนองหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกับประเด็นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2091/2558 ของศาลชั้นต้น ที่ฟ้องขับไล่ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว ทั้งความปรากฏต่อศาลฎีกาอีกว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2091/2558 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาข้อนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ให้การเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้ จึงยื่นขอให้ชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายไม่ได้ เป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การนั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ