คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 24 ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคน และผู้พิพากษาสมทบอีกสองคน ซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้.. ก็ตาม แต่การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (1) ถึง (5) คดีนี้เดิมเป็นเรื่องที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญา การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เมื่อพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดเสร็จแล้ว ในหมวด 11 การพิพากษาคดีอาญา กำหนดให้มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อมีคำพิพากษาตามมาตรา 134 แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต้องมีการประชุมปรึกษาและให้ถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่บทบาทของผู้พิพากษาสมทบในการร่วมนั่งพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาเป็นการมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน รวมทั้งการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีการให้เหมาะสมแก่เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ดังที่บทบัญญัติไว้ในหมวด 12 สำหรับคดีร้องขอคืนของกลางในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 36 แม้มีผลสืบเนื่องมาจากคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคดีสาขา เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยจำเลยหาได้เป็นคู่ความในคดีร้องขอคืนของกลางไม่ และปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน (จำเลย) หรือไม่ เท่านั้น ไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิด หรือต้องพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนแต่อย่างใด และไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนโดยตรง การพิจารณาพิพากษาคดีขอคืนของกลาง มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน หรือมีผลกระทบต่อเด็กหรือเยาวชนไม่ว่าในทางใด แต่เป็นการมุ่งถึงตัวทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง รวมทั้งไม่ต้องสอบถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 134 ด้วย เมื่อคดีนี้มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสองคนร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอคืนของกลาง โดยไม่มีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะ ก็เป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขนค นครปฐม 243 ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ทางพิจารณาไม่ชอบเกี่ยวกับเรื่ององค์คณะและพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีโดยให้มีผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบครบองค์คณะ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การพิจารณาพิพากษาคดีขอคืนของกลางต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 24 ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคน และผู้พิพากษาสมทบอีกสองคน ซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้.. ก็ตาม แต่การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (1) ถึง (5) ซึ่งคดีนี้เดิมเป็นเรื่องที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาตาม มาตรา 10 (1) การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เมื่อพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดเสร็จแล้ว ในหมวด 11 การพิพากษาคดีอาญา กำหนดให้มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อมีคำพิพากษาตามมาตรา 134 ที่บัญญัติว่า ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดซึ่งเป็นองค์คณะเป็นประธาน และให้ประธานของที่ประชุมนั้นถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อน แสดงให้เห็นได้ว่า การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดนั้น ต้องมีการประชุมปรึกษาและให้ถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่บทบาทของผู้พิพากษาสมทบในการร่วมนั่งพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาเป็นการมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน รวมทั้งการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีการให้เหมาะสมแก่เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด 12 การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวที่ต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะด้วยนั้นจึงต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดอาญา สำหรับคดีร้องขอคืนของกลางในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 แม้มีผลสืบเนื่องมาจากคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคดีสาขา ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีบุคคลภายนอกที่ถูกศาลสั่งริบทรัพย์สินมาร้องขอคืนของกลาง ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านขอคืนของกลางก็คือโจทก์ในคดีดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยจำเลยหาได้เป็นคู่ความในคดีร้องขอคืนของกลางไม่ และปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน (จำเลย) หรือไม่ เท่านั้น ไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดหรือต้องพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนแต่อย่างใด และไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนโดยตรง การพิจารณาพิพากษาคดีขอคืนของกลาง จึงมิได้มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน หรือมีผลกระทบต่อเด็กหรือเยาวชนไม่ว่าในทางใด แต่เป็นการมุ่งถึงตัวทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง รวมทั้งไม่ต้องสอบถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 134 ด้วย เนื่องจากมิได้เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดอาญาและใช้วิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชน เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติกรรมในการกระทำความผิดแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 134 อยู่ในหมวดการพิพากษาคดีอาญา ซึ่งบทบัญญัติในหมวดนี้ล้วนแต่บัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษหรือกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนทั้งสิ้น แต่การขอคืนของกลางไม่เกี่ยวกับการลงโทษหรือกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด ไม่ใช่การทำคำพิพากษาตามหมวด 11 จึงไม่จำต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะ ดังนั้น คดีนี้เมื่อมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสองคนร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอคืนของกลางโดยไม่มีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะ ก็เป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่ององค์คณะแล้วให้พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาเรื่องการขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่ มีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของจำเลย รถจักรยานยนต์ของกลางมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องและบิดาจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางขับไปทำงานเป็นประจำ จำเลยเคยใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวขับไปโรงเรียนแต่ไม่บ่อยนัก หากจำเลยจะใช้รถต้องขออนุญาตผู้ร้องก่อน ในวันเกิดเหตุผู้ร้องใช้รถจักรยานยนต์ของกลางขับไปทำงาน เมื่อกลับมาถึงบ้าน เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยขออนุญาตผู้ร้องนำรถจักรยานยนต์ของกลางใช้ขับเพื่อไปเล่นฟุตบอลที่สนามห่างจากบ้านประมาณ 300 เมตร จำเลยเล่นฟุตบอลจนถึงเวลา 20 นาฬิกา หลังจากเล่นฟุตบอลเสร็จ จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปหาเพื่อน เมื่อพบเพื่อน เพื่อนของจำเลยขอเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ของกลางโดยให้จำเลยนั่งซ้อนท้ายขับมาถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด เห็นว่า การที่ผู้ร้องอนุญาตให้จำเลยที่มีอายุ 16 ปีเศษ ขับรถจักรยานยนต์ของกลางออกจากบ้าน ในช่วงเวลา 18 นาฬิกา เพื่อไปเล่นฟุตบอล ตามที่จำเลยขออนุญาตจากผู้ร้อง จึงเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่จะอนุญาตให้จำเลยซึ่งเป็นวัยรุ่นได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยเล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกาย แม้จำเลยจะไม่มีใบอนุญาตขับรถ แต่ก็เป็นการขับรถไปเล่นฟุตบอลที่สนามห่างจากบ้านจำเลยเพียง 300 เมตร ถือว่าเป็นระยะทางที่ไม่ไกลจากบ้านจำเลยมากนัก ในข้อนี้พันตำรวจโทรัฐพล พนักงานสอบสวน พยานผู้คัดค้าน เบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านว่า ในชั้นสอบสวนพยานสอบปากคำจำเลย จำเลยให้การว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถไปเล่นกีฬากับเพื่อน เจือสมกับทางนำสืบของผู้ร้อง เชื่อว่า เริ่มแรกนั้นจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนจริงตามที่ผู้ร้องอนุญาต ซึ่งโดยปกติจำเลยจะขับรถจักรยานยนต์ของกลางกลับบ้าน ภายหลังจากเล่นฟุตบอลเสร็จแล้ว แต่ในวันเกิดเหตุจำเลยกลับขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปหาเพื่อนแล้วเพื่อนของจำเลยขอเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ โดยให้จำเลยนั่งซ้อนท้ายไปจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนในช่วงเวลาประมาณ 22 นาฬิกา นั้น จึงเป็นการกระทำของจำเลยเองตามลำพังนอกเหนือการอนุญาตและเกินความคาดหมายของผู้ร้องที่จะรู้ได้ว่าจำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อีกทั้งผู้ร้องก็เบิกความว่า ผู้ร้องเก็บกุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ในห้องนอนของผู้ร้อง หากจำเลยประสงค์จะใช้รถต้องมาขออนุญาตจากผู้ร้องก่อน ผู้ร้องจะเป็นผู้หยิบกุญแจรถให้ทุกครั้ง ประกอบกับจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอาญามาก่อน อันจะทำให้ผู้ร้องต้องมีความระมัดระวังในเรื่องที่จำเลยขออนุญาตนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้เป็นกรณีพิเศษมากกว่าปกติทั่วไป นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุเมื่อจำเลยกลับบ้านผิดเวลา ได้ความว่าผู้ร้องได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยแต่ไม่สามารถติดต่อได้ เพราะจำเลยปิดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนแล้วนำไปเก็บไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของกลาง เมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จึงยืมโทรศัพท์ของบุคคลอื่นเพื่อโทรศัพท์ติดต่อผู้ร้อง ผู้ร้องจึงทราบเหตุที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมเมทแอมเฟตามีน พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ร้องไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้โดยลำพังและไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ร้อง แต่เป็นการใช้รถจักรยานยนต์ของกลางตามความเหมาะสมซึ่งผู้ร้องจะเป็นผู้อนุญาตเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขนค นครปฐม 243 ของกลางแก่ผู้ร้อง

Share