คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบันทึกข้อความเอกสารที่พิพาทมีข้อความว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2530 เรื่อง ขอยืมเงิน และมีข้อความต่อไปว่า ข้าพเจ้านายสวาท ภิรมย์เอี่ยม (จำเลย) ขอยืมเงินป้าเกศินีฯ (โจทก์) เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และจำเลยได้ลงลายมือในบันทึกดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานด้วย เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่เป็นยุติว่า โจทก์ได้ถอนเงินจากธนาคารและมอบเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยจึงมอบบันทึกข้อความดังกล่าวแก่โจทก์ที่ธนาคาร ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 20,000 บาท จำเลยผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความดังกล่าวไว้เป็นสำคัญ บันทึกข้อความย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
หลักฐานแห่งการกู้ยืมมิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แม้จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวมกันต่ำกว่าอัตราที่กำหนดตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. จึงเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๒ ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย ๕๕๐.๖๙ บาท รวมเป็นเงิน ๒๐,๕๕๐.๖๗ บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน จากต้นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ ข้อความตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ เป็นเพียงหนังสือแสดงเจตนาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แต่ไม่ได้รับเงิน และเอกสารดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมายไม่สามารถรับฟังได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๕๕๐.๖๙ บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๖๐๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว… ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยว่า บันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. ๒ เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ หรือไม่ นั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. ๒ มีข้อความว่า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เรื่อง ขอยืมเงิน และมีข้อความต่อไปว่า ข้าพเจ้านายสวาท ภิรมย์เอี่ยม (จำเลย) อายุ ๕๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๐๔/๙๗ แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ขอยืมเงินป้าเกศินีฯ (โจทก์) เป็นจำนวนเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และจำเลยได้ลงลายมือในบันทึกดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานด้วย ข้อความในบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. ๒ เมื่อฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้ถอนเงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยบางประกอก และมอบเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลย จำเลยจึงมอบบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. ๒ แก่โจทก์ที่ธนาคารดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความดังกล่าวไว้เป็นสำคัญ บันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. ๒ ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยว่า บันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. ๒ ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ. ๒ เป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท ซึ่งตามตาราง ๖ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติให้ศาลกำหนดค่าทนายความอัตราขั้นต่ำไม่ว่าในศาลใดเป็นเงิน ๔๐๐ บาท และอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้น เป็นเงิน ๑,๒๐๐ บาท อัตราขั้นสูงในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเป็นเงิน ๖๐๐ บาท การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๖๐๐ บาท จึงต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความทั้งสามศาลรวม ๑,๘๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share