คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้น ประสงค์แต่เพียงแก้ไขเพื่อกำหนดว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยทั่วไปก็มีอำนาจทำการยึดได้เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่วิเคราะห์ศัพท์ไว้

ย่อยาว

คดีนี้เนื่องมาจากคดีเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง ๖ คนๆ ละ ๖ เดือน และริบปลากับเรือยนต์ของกลาง ๑ ลำ คดีถึงที่สุดแล้ว
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนเรือยนต์ของกลาง อ้างว่าให้นายดำรงค์เช่าไปประกอบอาชีพในการจับสัตว์น้ำ การที่นายดำรงค์นำเรือไปใช้ในการกระทำผิดจนศาลสั่งริบ ผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดด้วย จึงขอให้ศาลสั่งคืน
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนเรือของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๔ วรรคแรกซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลการ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ เป็นว่า “สิ่งใดๆ อันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานตุลาการพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจยึดในเวลาในๆ และ ณ ที่ใดก็ได้” ประสงค์แต่เพียงแก้ไขเพื่อกำหนดว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยทั่วไปก็มีอำนาจทำการยึดได้เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่วิเคราะห์ศัพท์ไว้ ส่วนวรรค ๒ ที่บัญญัติว่า “สิ่งที่ยึดไว้นั้น ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาภายในกำหนด ๖๐ วัน สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด ๓๐ วัน สำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันยึด ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ และให้ตกเป็นของแผ่นดิน” ก็คงหมายความว่า ให้ยื่นคำร้องเรียกคืนต่อเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการนี้มิได้จำกัดทีเดียวว่า เจ้าพนักงานใดเป็นผู้ทำการยึดหรือสอบสวนแล้วจะต้องยื่นคำร้องเรียกเอาสิ่งที่ยึดไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยเฉพาะ
ฉะนั้น ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอรับเรือของกลางคืนต่ออธิบดีศุลกากรเป็นหนังสือภายในกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันยึด จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ฎีกาโจทก์ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืน

Share