แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับไว้โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และศาลได้พิพากษาไปตามนั้นแล้ว เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าสัญญายอมขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ก็ต้อง อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่า นี้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 จำเลยจะมาร้องขอให้งดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุดังกล่าว และขอให้ศาลไต่สวนหาความจริงตามคำร้องของจำเลยนั้น หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์จำเลยทำสัญญายอมและศาลพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญายอม โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องว่าสัญญายอมความดังกล่าวเกิดจากกลฉ้อฉล และขัดต่อความสงบเรียบร้อย เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับขอให้งดการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นนัดพร้อม โจทก์แถลงว่า การยอมความชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจำเลยถือว่าเป็นตามคำร้องของจำเลย จำเลยชอบที่จะฟ้องทำลายคำพิพากษาในคดีนี้ ขอให้ยกคำร้อง จำเลยแถลงว่าขอถือไปตามคำร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ยังไม่มีเหตุจะให้งดการบังคับคดี ให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ว่า เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าสัญญายอมเป็นโมฆะ ก็ชอบที่จะให้มีการไต่สวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคู่ความตกลงกันทำสัญญาประนีประนอม ยอมความนั้นแล้ว กรณีก็เข้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ คือ ผูกพันคู่ความจนกว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมีและต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ คือ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาแล้วห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ คือ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาไว้แล้วนั้นประกอบกับบทบัญญัติที่ว่าด้วยอุทธรณ์ฎีกาในมาตรา ๒๒๓ และ ๒๔๗ เรื่องจึงเป็นว่า เมื่อศาลพิพากษาคดีแล้ว คำพิพากษาเป็นอันผูกพันคู่ความ เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลง ฯลฯ ในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี จะมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ได้พิพากษาแล้วนั้นอีกไม่ได้ แม้แต่จะแก้ไขคำพิพากษาก็มิได้ เว้นแต่จะเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ ยิ่งกว่านั้น สำหรับคดีที่ศาลพิพากษาตามประนีประนอมยอมความกัน ยังมีบทบัญญัติของมาตรา ๑๓๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นนี้เว้นแต่ในเหตุซึ่งได้ระบุไว้ท้ายมาตรานั้น
คดีนี้จำเลยไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบก่อนที่ศาลจะพิพากษาตามยอมว่าสัญญายอมเกิดจากกลฉ้อฉล หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยอย่างไร เพื่อศาลจะได้วินิจฉัย ว่าข้อตกลงตามสัญญายอมนั้นฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ ตอนต้นบัญญัติไว้หรือไม่ และจำเลยก็ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาซึ่งศาลได้พิพากษาไปตามที่มาตรา ๑๓๘ อนุญาตไว้ จำเลยกลับปล่อยให้คำพิพากษาตามยอมนั้นถึงที่สุด จำเลยจึงมาร้องเช่นนี้ หาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาพิพากษายืน