แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำผิดต่อ พระราชบัญญัติป่าไม้ รวม4กระทง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกและปรับ แต่รอการลงโทษจำคุกไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำคุกสถานเดียว 4 กระทง โดยไม่รอการลงโทษ ตรงตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว จำเลยมิได้ฎีกาย่อมต้องบังคับคดีแก่จำเลยไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยรวม 4 กระทงเกินกว่าสองปี ศาลจึงไม่มีอำนาจรอการลงโทษจำคุกได้ แม้จะวินิจฉัยฎีกาโจทก์ไปก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลง ถือได้ว่าเป็นฎีกาที่ไม่มีประโยชน์อันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สัก จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานแปรรูปไม้สัก จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาทฐานมีไม้สักแปรรูป จำคุก 1 ปี ปรับ 1 ปี ปรับ 8,000 บาท ฐานมีเครื่องใช้ทำด้วยไม้หวงห้ามเพื่อการค้า จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ฐานละ 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียว โดยไม่รอการลงโทษ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายรวมใจความว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดโทษ แต่รอการลงโทษไว้ได้ต่อเมื่อในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุก ไม่เกินสองปี ในคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิด 4 ฐานในคดีเดียวกัน แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ละฐานความผิดไม่เกินสองปี แต่เมื่อรวมโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงเกินกว่าสองปีแล้ว โจทก์เห็นว่าศาลจะรอการลงโทษได้หรือไม่ถือเอาโทษเป็นรายคดี ไม่ใช่รายกระทงในคดีเดียวกัน คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยรวม 4 กระทงเกินกว่าสองปี ศาลจึงไม่มีอำนาจรอการลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันเกิดเหตุจำเลยได้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สัก และฐานมีเครื่องใช้ทำด้วยไม้หวงห้ามเพื่อการค้า รวม 4 กระทง จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกและปรับรวม 4 กระทง แต่รอการลงโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำคุกสถานเดียว 4 กระทง โดยไม่รอการลงโทษเห็นว่าศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษตรงตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว จำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านต่อไป ย่อมต้องบังคับคดีแก่จำเลยไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายข้างต้นต่อมาอีก แม้จะวินิจฉัยฎีกาโจทก์ดังกล่าวไปในทางหนึ่งทางใด ก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลง ถือได้ว่าเป็นฎีกาที่ไม่มีประโยชน์อันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาโจทก์”