คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นเหตุแห่งข้อหาให้ชัดเจนพอที่จำเลยจะเข้าใจอันอาจทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้เช่นนี้ถือว่าจำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตรงไหนอย่างไรจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่และที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยมิได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยอ้างอายุความในเรื่องใด เหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความทั้งๆที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินหลายประเภทรวมกันมาก็ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา177วรรคสองเช่นกันศาลไม่ควรกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและยอมรับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและคดีขาดอายุความหรือไม่แล้วแม้จะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้ออื่นๆก็ถือว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและอายุความนั้นไปแล้วคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นอันยุติจำเลยจะยกขึ้นอุทธรณ์อีกไม่ได้ต้องห้ามตามป.วิ.พ.มาตรา144ประกอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา31.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์มีตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม กับให้ชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือมิฉะนั้นก็ให้จำเลยชำระเงิน 309,662 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าน้ำมันรถ 2,000 บาท ที่ค้างชำระทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันที่ 22 มีนาคม2527 อันเป็นวันพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2527ที่ถึงวันกำหนดจ่าย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นเหตุแห่งข้อหาให้ชัดเจนพอที่จำเลยจะเข้าใจ อันอาจทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ จำเลยไม่เคยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ กับตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะมิได้ฟ้องคดีเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,894 บาท ค่าชดเชย 41,364 บาท เงินประกัน 3,805บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 344.70 บาท ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับเงินต้นทุนจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในปัญหาตามประเด็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตรงไหน อย่างไร จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทแล้วยอมรับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาตามประเด็นข้อ 2 เฉพาะฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยต่อสู้ในคำให้การสั้น ๆ ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยที่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยเงินประกัน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินเพิ่ม ค่าจ้างค้างชำระ ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นเงินหลายจำนวน อายุความมีหลายประเภท มีกำหนดเวลาต่างกันเป็นเรื่อง ๆ ไป จึงต้องแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยอ้างอายุความในเรื่องใด เหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความคำให้การของจำเลยสั้น ๆ ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ศาลแรงงานกลางไม่ควรกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท การที่ศาลแรงงานกลางยอมรับวินิจฉัยให้ จำเลยจะถือเอาเป็นเหตุอุทธรณ์ไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอีกเช่นกันสำหรับปัญหาตามประเด็นข้อ 3 โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า ขณะที่โจทก์ยังเป็นทนายความประจำอยู่ที่สำนักงานบำรุง สุวิชา อภิศักดิ์ นั้น จำเลยจ้างสำนักงานหรือจ้างโจทก์เป็นส่วนตัว ครั้นโจทก์ออกจากสำนักงานดังกล่าวแล้ว จำเลยจ้างโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีทั่วไปทุกคดีหรือจ้างดำเนินคดีแต่ละคดี โดยเฉพาะเอกสารหมาย ล.8 เป็นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยหรือเป็นการแจ้งข้อมูลส่วนตัวของโจทก์ โจทก์ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และจำเลยมีอำนาจบังคับบัญชาให้คุณให้โทษแก่โจทก์ได้หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวยังโต้เถียงกันไม่ได้เป็นที่ยุติ หากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นยุติแล้วก็จะเป็นข้อที่ทำให้การวินิจฉัยได้ความชัดเจนว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยหรือไม่ เห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ใหม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย และโจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,894 บาท ค่าชดเชย 41,364 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 344.70 บาท และเงินประกัน 3,805 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถหรือค่าพาหนะซึ่งถือเป็นค่าจ้าง2,538.80 บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้างดังกล่าวทุก 7 วัน นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่น ๆ ให้ยกเลิกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำรวจประชุมปรึกษาแล้วปัญหาข้อแรกที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าปัญหาตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จำเลยได้ยกขึ้นอุทธรณ์มาแล้วในครั้งก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะยกขึ้นอุทธรณ์อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2523 มาตรา 31 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาข้ออื่น ๆ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 55 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย.

Share