แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประกันที่นายประกันทำไว้ต่อศาลมีข้อความว่า ‘ข้าพเจ้าสัญญารับประกันตัวจำเลยในคดีเรื่องนี้เพื่อให้ศาลปล่อยชั่วคราวจนกว่าข้าพเจ้าได้นำจำเลยมามอบต่อศาล และศาลสั่งให้ถอนประกันหรือปล่อยตัวไป’ ดังนี้ เมื่อนายประกันนำตัวจำเลยมาส่งศาลและศาลได้ปล่อยตัวจำเลยไปเพราะมีคำพิพากษายกฟ้อง นายประกันย่อมพ้นจากความผูกพันตามสัญญาประกันนั้น (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2513)
ย่อยาว
คดีเดิมโจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมเช็คและใช้เช็คปลอมไปหลอกลวงเอาเงินจากผู้มีชื่อ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266,268, 341 ริบเช็คของกลาง กับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย 40,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาที่ศาลชั้นต้น นางสงบ สัมมา ได้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยไปจากศาล และศาลปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราวตามสัญญาประกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณา พิพากษายกฟ้องทุกข้อหาปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไป เช็คของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาส่งไปยังศาลชั้นต้นเพื่ออ่าน แต่ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาไปไม่ถึงจำเลยและผู้ประกันได้มีการเลื่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปหลายครั้งเพราะจำเลยไม่มาศาล ในที่สุดศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยและผู้ประกันตัวจำเลยทราบวันนัดให้มาศาลแล้ว ถือว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่มา ได้ออกหมายจับและสั่งปรับนางสงบ สัมมา ผู้ประกันจำเลยเป็นเงิน 80,000 บาท ภายหลังที่ออกหมายจับแล้วเกิน 1 เดือนยังจับตัวจำเลยไม่ได้ ได้มีการอ่านคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266(4), 268, 341 ให้ลงโทษตามกระทงหนักมาตรา 268 จำคุกจำเลย 2 ปี ริบเช็คของกลาง
นางสงบ สัมมา ผู้ประกันตัวจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ผู้ประกันได้ส่งตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นแล้ว และศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง โจทก์ปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไปแล้วจึงหมดระยะเวลาตามสัญญาประกันที่ผู้ประกันจะต้องรับผิดชอบอีกต่อไป ศาลจะสั่งปรับผู้ประกันในเหตุที่เกิดขึ้นตอนหลังจากหมดความรับผิดชอบตามสัญญาประกันนี้ไม่ได้
ส่วนคดีสำหรับตัวจำเลยทนายจำเลยได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนจำเลย ในที่สุดปรากฏว่าศาลฎีกาพิพากษายืน
ส่วนในคดีที่ผู้ประกันอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งให้ปรับของศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งปรับผู้ประกันนั้นเสีย
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ปรับผู้ประกันตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่าตามสัญญาประกันรายนี้ในข้อ 1 ได้กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าสัญญารับประกันตัวนางชุดา สุวรรณรัตน์ จำเลยในคดีเรื่องนี้ เพื่อให้ศาลปล่อยชั่วคราวจนกว่าข้าพเจ้าได้นำนางชุดา สุวรรณรัตน์ จำเลยมามอบตัวต่อศาลและศาลสั่งให้ถอนประกันหรือปล่อยตัวไป” ตามสัญญาข้อสองมีว่า “ในระหว่างประกันนี้ ข้า ฯลฯ จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล มิฉะนั้นข้าพเจ้ายอมรับผิดชอบใช้เงินเป็นจำนวนแปดหมื่นบาทถ้วน ฯลฯ”
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าในสัญญาข้อ 2 ว่า ให้มีการรับผิดกันสำหรับในระหว่างประกันเท่านั้น ซึ่งแปลได้ว่าต้องเป็นระยะเวลาภายในดังที่กล่าวไว้ในสัญญาข้อ 1 นั้นเอง คือภายในระยะเวลาที่มีการปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราวจนถึงเวลาที่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลแล้ว และศาลปล่อยตัวจำเลยไป สำหรับตัวจำเลยรายนี้ได้ปรากฏตามบันทึกในหน้าปกสำนวนว่าจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2509 จึงฟังได้ว่าในวันนั้นผู้ประกันได้เอาตัวจำเลยมาส่งศาลด้วยแล้ว และจำเลยกลับไปจากศาลโดยไม่ได้เอาตัวไปก็คือศาลได้สั่งปล่อยตัวจำเลยไปตามคำพิพากษาฉบับที่กล่าวไว้แล้วนั้นเองระยะเวลาที่ผู้ประกันผูกพันอยู่ตามสัญญาประกันรายนี้จึงเป็นอันหมดไป นับแต่ศาลปล่อยตัวจำเลยไปในวันนั้นเอง กรณีที่จำเลยไม่ได้มาศาลตามนัด (อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์) เป็นเรื่องเกิดขึ้นภายหลังจากระยะเวลาที่ความรับผิดตามสัญญาประกันของผู้ประกันหมดไปแล้ว ศาลจะยกเอาเหตุภายหลังนั้นขึ้นสั่งปรับผู้ประกันไม่ได้
พิพากษายืน