แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้พระภิกษุช.จะได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินที่เช่าซื้อมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม แต่พระภิกษุ ช.ได้เช่าซื้อและชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้วก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุซึ่งหากผู้ให้เช่าซื้อไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้ พระภิกษุ ช.ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อโอนที่ดินได้อันเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่พระภิกษุ ช.มีก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุจึงต้องถือว่าพระภิกษุ ช.ได้ที่ดินมาแล้วก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุการจดทะเบียนการได้มาในภายหลังเป็นแต่เพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เท่านั้นฉะนั้นเมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์สินที่พระภิกษุ ช.ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ตามมาตรา 1623 หากแต่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่บรรดาทายาทของพระภิกษุ ช.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชาย ปรมาภูติ มีบุตรด้วยกัน 3 คนต่อมานายชายตายในขณะที่บวชเป็นพระภิกษุที่วัดภูเขาทองศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายชายจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ควบคุมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั่วราชอาณาจักร โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชายได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายชาย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าทรัพย์ดังกล่าวตกได้แก่วันที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุชายเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์และทายาทอื่น ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาเป็นชื่อโจทก์นายศุภกิจ ปรมาภูติ และเด็กชายปราปต์ ปรมาภูติ เป็นเจ้าของร่วมกัน
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องนายชายสามีโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเมืองทองการก่อสร้าง จำกัด และได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหมดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2522 แต่ยังมิได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ ต่อมานายชายได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดภูเขาทอง และพำนักอยู่ที่วัดตลอดมา ต่อมาจึงได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2524 ในขณะที่บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุชาย เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุชายได้มรณภาพในวันที่ 13 พฤษภาคม 2525 ในระหว่างเป็นพระภิกษุโดยมิได้จำหน่ายที่ดินในระหว่างมีชีวิตอยู่หรือโดยพินัยกรรม ที่ดินจึงต้องตกเป็นสมบัติของวัดภูเขาทอง ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุชาย จำเลยจึงไม่อาจจดทะเบียนให้โจทก์และบุคคลอื่นได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายชายหรือพระภิกษุชาย ครึ่งหนึ่งเป็นของโจทก์ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของพระภิกษุชายโดยเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุ เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของพระภิกษุชายพิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 41375, 41376, 41407 และ 41408 ตำบลหนองแขมอำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร โดยใส่ชื่อโจทก์นายศุภกิจ ปรมาภูติ และเด็กชายปราปต์ ปรมาภูติ ร่วมกันเป็นเจ้าของที่ดินทั้ง 4 โฉนด ดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในระหว่างที่พระภิกษุชายอยู่ในสมณเพศ จึงถือเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุชายได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ แต่เนื่องจากการบวชเป็นพระภิกษุไม่ทำให้ขาดจากการสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง และส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุชายอีกครึ่งหนึ่งตกเป็นสมบัติของวัดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 41375, 41376, 41407 และ41408 ตำบลหนองแขม อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติว่า โจทก์กับนายชาย ปรมาภูติ จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 3 คน คนแรกชื่อนายศุภกิจ ปรมาภูติ คนที่สองชื่อนายวิชชุ ปรมาภูติ เสียชีวิตไปแล้วคนที่สามชื่อเด็กชายปราปต์ปรมาภูติ ในระหว่างอยู่กินด้วยกันโจทก์กับนายชาย ปรมาภูติร่วมกันเช่าซื้อที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงจากบริษัทเมืองทองการก่อสร้าง จำกัด นายชายผ่อนราคาค่าเช่าซื้อที่ดินพิพาทจนครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2522 แต่ยังไม่ได้ไปรับโอนที่ดินพิพาท ต่อมาบิดานายชายถึงแก่กรรม นายชายได้ไปบวชให้บิดาที่วัดภูเขาทอง อำเภอเกาสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2524 ในระหว่างที่เป็นพระภิกษุอยู่นั้นบริษัทเมืองทองการก่อสร้าง จำกัด มีหนังสือแจ้งให้พระภิกษุชายไปรับโอนที่ดินพิพาท พระภิกษุชายได้มอบอำนาจให้โจทก์ไปจัดการรับโอนที่ดินพิพาท และได้จดทะเบียนโอนใส่ชื่อนายชายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2524ครั้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2525 พระภิกษุชายก็ถูกทำร้ายถึงแก่มรณภาพคดีมีปัญหาว่า ที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของนายชายหรือพระภิกษุชาย ปรมาภูติเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุชายได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศหรือไม่ เห็นว่า แม้พระภิกษุชายจะได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทที่เช่าซื้อมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม แต่พระภิกษุชายก็ได้เช่าซื้อที่ดินพิพาทและชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้วก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุซึ่งหากผู้ให้เช่าซื้อไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้พระภิกษุชายก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อโอนที่ดินพิพาทได้อันเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่พระภิกษุชายมีก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุ จึงต้องถือว่าพระภิกษุชายได้ที่ดินพิพาทมาแล้วก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุ การจดทะเบียนการได้มาในภายหลังเป็นแต่เพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรกเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินที่พระภิกษุชายได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของพระภิกษุชายจึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ตามมาตรา 1623 หากแต่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่บรรดาทายาทของพระภิกษุชาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น