คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9021/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างว่าถูก ช. กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์กระทำอนาจารจนจำเลยไม่อาจทนอยู่ปฏิบัติงานได้ ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่เคยกระทำการอันไม่เป็นธรรม จำเลยออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวให้โจทก์ทราบ คดีจึงมีประเด็นว่า ช. กระทำอนาจารจำเลยจริงหรือไม่ และการกระทำของ ช. ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าแม้จะฟังได้ว่า ช. กระทำอนาจารจำเลยจริงก็เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัวของ ช. ไม่ใช่กระทำในหน้าที่การงานแทนโจทก์ไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไม่นอกเหนือไปจากฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสองบัญญัติว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ดังนั้น เมื่อการกระทำอนาจารของ ช. ที่กระทำต่อโจทก์เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัว ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ ทั้งมิได้เป็นการกระทำเพื่อไม่ให้จำเลยทนทำงานได้อีกต่อไป จึงไม่เป็นการเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าทำงานกับโจทก์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541ในตำแหน่งสมุห์บัญชี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 จำเลยไม่ได้มาทำงานโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบและไม่มาทำงานอีกต่อไป ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน 2542 โจทก์ได้ให้พนักงานบัญชีคนใหม่ตรวจสอบพบว่าจำเลยลงบัญชีข้อมูลแสดงตัวเลขในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของโจทก์ผิดพลาดโดยจงใจลงตัวเลขและข้อมูลให้ผิดไปจากความจริง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 356,160 บาท เนื่องจากจำเลยไม่พอใจโจทก์ที่ว่ากล่าวตักเตือนให้จำเลยทราบถึงทัศนคติและความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ทั้งการที่จำเลยไม่มาทำงานให้โจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียเวลาในการติดต่อหาพนักงานคนใหม่และฝึกหัดงานให้ทำหน้าที่แทนจำเลยอีกทั้งต้องสะสางและแก้ไขงานของจำเลยที่ทำไว้โดยปราศจากความรับผิดชอบให้สำเร็จลุล่วงไป โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเวลา 1 เดือนเป็นเงิน 23,000 บาท กับค่าใช้จ่ายและค่าเสียเวลาจัดหาพนักงานใหม่อีก23,000 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น 402,160 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ลงบัญชีข้อมูลแสดงตัวเลขในแบบแสดงรายการภาษีของโจทก์ผิดพลาดโดยจงใจลงตัวเลขและข้อมูลให้ผิดไปจากความจริง จำเลยเข้าทำงานกับโจทก์โดยไม่มีการส่งมอบงานจากสมุห์บัญชีคนก่อนและปรากฏว่าสมุห์บัญชีคนก่อนไม่ได้ลงบัญชีรายวันซื้อ รายวันขาย และรายวันทั่วไปตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2541 ไว้ จำเลยจึงรีบดำเนินการลงบัญชีดังกล่าว แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากต้นทุนซื้อขนเป็ดวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบกิจการของโจทก์จะเป็นจำนวนเท่าใด ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและกำหนดราคาจากนายชาร์ลแลป ไฮแลนด์ กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการฝ่ายบัญชีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยแต่ผู้เดียว และขนเป็ดมีจำนวนมากไม่สามารถแยกประเภทและกำหนดราคาลงบัญชีได้ทัน ประกอบกับขณะนั้นโจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.51) ต่อกรมสรรพากรภายในเดือนสิงหาคม2541 จึงได้มีการจัดประชุมกันเพื่อกำหนดต้นทุนซื้อขนเป็ดโดยมีนายชาร์ลนางสาวศมกมล จินตเสรี กรรมการโจทก์ผู้เป็นภริยานายชาร์ล และนายมงคลปุสสเด็จ ที่ปรึกษาและผู้สอบบัญชีของโจทก์กับจำเลยร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อกำหนดตัวเลขต้นทุนขนเป็ด เมื่อได้ตัวเลขต้นทุนขนเป็ดโดยผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว จำเลยจึงได้นำตัวเลขดังกล่าวมากรอกในแบบ ภ.ง.ด.51แล้วคำนวณเพื่อเสียภาษีต่อกรมสรรพากรโดยถูกต้องและได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง เหตุที่จำเลยออกจากงานโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเนื่องจากจำเลยและพนักงานหญิงของโจทก์หลายคนถูกนายชาร์ลย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นสตรีไทยด้วยการกระทำอนาจารอยู่เสมอ จำเลยขัดขืนและพูดต่อว่าแต่นายชาร์ลยังคงกระทำอนาจารอีก จำเลยเป็นหญิงโสดได้รับความอับอายเป็นอย่างมาก การทำงานก็ได้รับความกดดันเช่น ถูกด่าว่าโง่ ทำงานไม่ได้เรื่อง หน้าด้าน จำเลยได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้นางสาวศมกมลทราบก็ได้รับถ้อยคำหมิ่นประมาทว่าจำเลยให้ท่าและไม่เชื่อว่านายชาร์ลจะกระทำอนาจารดังกล่าว วันที่ 1 มีนาคม 2542 นายชาร์ลได้กระทำอนาจารจำเลยอีกโดยใช้มือจับก้นจำเลย จำเลยแจ้งความร้องทุกข์จนนายชาร์ลถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในข้อหากระทำอนาจารต่อศาล ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณา การกระทำของนายชาร์ลกรรมการผู้จัดการโจทก์ที่มีฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยและการกระทำของนางสาวศมกมลดังกล่าวทำให้จำเลยไม่อาจทนอยู่ปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยปกติสุขได้ ถือได้ว่าโจทก์จงใจทำผิดสัญญาจ้างต่อจำเลยอันเป็นการเลิกจ้างจำเลยโดยปริยายและถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 23,000 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 23,000 บาท และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน138,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 184,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทำงานบกพร่องต่อหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงบัญชีผิดพลาดบ่อยครั้ง โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้ว จำเลยไม่เชื่อฟังกลับโต้เถียงผู้บังคับบัญชา โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบเป็นหนังสือว่าจำเลยต้องปรับปรุงการทำงานและปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานเสียใหม่ แต่จำเลยไม่เปลี่ยนแปลงกระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ปิดงานบัญชีปี 2541 ปรากฏว่ามีการกรอกจำนวนตัวเลขผิดพลาดโดยจงใจ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่ม โจทก์สอบถามจำเลย จำเลยกลับโต้เถียงอย่างรุนแรงและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยไม่สามารถทำงานกับโจทก์ได้อีกต่อไป ขอลาออกด้วยวาจา แต่โจทก์ไม่ยินยอม โจทก์แจ้งให้จำเลยลาออกเป็นหนังสือตามระเบียบ แต่จำเลยไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกและไม่มาทำงานกับโจทก์อีก ที่จำเลยอ้างว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยกับพนักงานหญิงอื่นนั้นเป็นความเท็จโจทก์ไม่เคยกระทำการอันไม่เป็นธรรมหรือกระทำตามที่จำเลยกล่าวอ้างจำเลยออกจากงานโดยไม่บอกกล่าว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 ตำแหน่งสมุห์บัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 23,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน มีหน้าที่ลงบันทึกรายการบัญชีในสมุดรายวันซื้อ รายวันขายบัญชีทั่วไป จำเลยเป็นผู้จัดทำแผนแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.51) ปี 2541 ของโจทก์ ตามเอกสารหมายจ.4 และจำเลยออกจากงานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 แล้ววินิจฉัยเรื่องจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายใดจากการทำงานของจำเลย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือไม่ และวินิจฉัยเรื่องโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างแรงงาน กับการที่จำเลยออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด ว่าจำเลยเบิกความว่าวันที่ 1 มีนาคม 2542 ขณะทำงานจำเลยถูกนายชาร์ลแลป ไฮแลนด์ กรรมการผู้จัดการโจทก์กระทำอนาจาร จำเลยจึงบอกนายชาร์ลว่าไม่มาทำงานอีกต่อไปและออกจากงานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 โดยจำเลยถือว่าการกระทำของนายชาร์ลเป็นการเลิกจ้างจำเลย ดังนี้แม้คดีฟังได้ว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยจริง ก็เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำในทางส่วนตัวของนายชาร์ล ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานแทนบริษัทโจทก์ ไม่ได้เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกจ้างจำเลย การที่จำเลยออกจากงานโดยไม่ยื่นใบลาออกเป็นหนังสือให้โจทก์พิจารณาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และทำการมอบหมายภารกิจที่คั่งค้างตลอดจนงานในความรับผิดชอบให้แก่พนักงานอื่นที่โจทก์มอบหมายให้มารับงานจากจำเลยตามสัญญาจ้างเข้าทำงานเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ข้อ 11 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างแรงงาน แต่โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นถึงความเสียหายจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่อ้าง เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างแรงงานและโจทก์มิได้บอกเลิกจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าแม้คดีฟังได้ว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยจริงก็เป็นการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัวของนายชาร์ล ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานแทนบริษัทโจทก์ไม่ได้เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นโดยวินิจฉัยนอกเหนือไปจากฟ้องแย้งของจำเลยและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์นั้นเห็นว่า จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างว่าถูกนายชาร์ลซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์กระทำอนาจารจนจำเลยไม่อาจทนอยู่ปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยปกติสุขได้ ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่จำเลยอ้างว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยนั้นเป็นความเท็จ โจทก์ไม่เคยกระทำการอันไม่เป็นธรรมหรือกระทำตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวให้โจทก์ทราบ คดีจึงมีประเด็นว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยจริงหรือไม่ และการกระทำของนายชาร์ลมีผลทำให้ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าแม้คดีจะฟังได้ว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยจริงก็เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัวของนายชาร์ลไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานแทนบริษัทโจทก์ไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ไม่นอกเหนือไปจากฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ในประการที่สองว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายชาร์ลกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์กระทำอนาจารจำเลยจนจำเลยไม่อาจทนทำงานกับโจทก์ได้อีกต่อไป ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยแล้วนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสองบัญญัติว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ฯลฯ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำอนาจารของนายชาร์ลเป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัวไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ ทั้งมิได้เป็นการกระทำเพื่อไม่ให้จำเลยทนทำงานได้อีกต่อไป จึงไม่เป็นการเลิกจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน จำเลยย่อมไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”

พิพากษายืน

Share