แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และฐาน ฉ้อโกง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยออกเช็ค ประกันหนี้และได้ ชำระหนี้นั้นแล้ว การกระทำของ จำเลยไม่เป็นความผิดตาม ฟ้อง พิพากษา ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ขอถอน คำร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนโดย อ้างว่าจะนำคดีมาฟ้องเอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) พิพากษายืน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91 และ 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อเป็นประกันการชำระราคาข้าวเปลือก และได้ชำระราคาข้าวเปลือกตามข้อตกลงแล้วจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มรณะ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นายบุญแทน สว่างเรือง บุตรโจทก์เข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์โดยอ้างว่าจะนำคดีมาฟ้องเอง พนักงานสอบสวนจึงคืนเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์ โจทก์จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์.