คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทะเบียนรถยนต์เป็นเพียงบันทึกแสดงการจดทะเบียนของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับรายละเอียดของรถเท่านั้น หาใช่หลักฐานแสดงว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถนั้นไม่ เมื่อผู้ร้องขอคืนของกลางนำสืบฟังไม่ได้ว่าเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางที่แท้จริง ประเด็นข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลต้อง ยก คำร้องของผู้ร้อง.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบรรจุก๊าซใส่ภาชนะซึ่งมีปริมาตรเกินกว่า 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยมิได้รับใบอนุญาต และฐานนำก๊าซหุงต้มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม2514 ข้อ 2, 4 พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8 คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 3/2529 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 ข้อ 20 และริบของกลางคืออุปกรณ์สำหรับถ่ายเทก๊าซจำนวน 17 รายการ และรถยนต์บรรทุก 2 คัน คือคันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร84-2319 และ กรุงเทพมหานคร 70-8612 จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและริบของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์บรรทุกของกลาง เป็นของผู้ร้องผู้ร้องได้ให้บริษัทอ่าวไทยปิโตเลี่ยม จำกัด (เดิมชื่อบริษัทแหลมทองแก๊สทรานสปอร์ต จำกัด) ประกอบกิจการขนส่ง บริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยม จำกัด ได้นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวให้จำเลยเช่าเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2529 ผู้ร้องทราบเรื่องความผิดภายหลังจำเลยถูกจับกุมแล้ว ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยกระทำความผิด ขอให้คืนรถยนต์บรรทุกของกลางคันดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย จึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลาง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า รถยนต์บรรทุกของกลางคันหมายเลขทะเบียน 70-8612 กรุงเทพมหานคร เป็นของผู้ร้องผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยให้คืนรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-8612 กรุงเทพมหานคร แก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-8612 กรุงเทพมหานครของกลาง และรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยหรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องซื้อรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวมาจากบริษัทแหลมทองแก๊สแอนด์ออยส์ จำกัด แล้วนำไปให้บริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยมจำกัด เช่าบรรทุกก๊าซ บริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยม จำกัด ได้นำรถไปให้จำเลยเช่าช่วงโดยผู้ร้องไม่ทราบ เห็นว่า ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสำอางค์ กล่ำสนอง พนักงานสอบสวนปรากฏว่าผู้ร้องไม่เคยไปแสดงตัวร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางคันดังกล่าวเลยคงมีแต่นายโหม บุนนาค กรรมการ ผู้จัดการของบริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยมจำกัด ไปร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางโดยอ้างว่าเป็นของบริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยม จำกัด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ตามเอกสารฉบับนี้ นายโหมให้การว่าบริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยม จำกัด ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์บรรทุกก๊าซ ซึ่งทำให้ไม่น่าเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวจะเช่ารถยนต์บรรทุกก๊าซจากผู้ร้องอีกดังที่ศาลอุทธรณ์ได้ยกเป็นเหตุวินิจฉัยประการหนึ่ง นอกจากนี้นายโหมยังเบิกความว่าก่อนนายโหมจะมาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยมจำกัด นั้น นายสันติ สุขเบื้องบน เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวมาก่อน ซึ่งปรากฏจากเอกสารหมาย จ.3 ว่า นายสันติก็เคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแหลมทองแก๊สแอนด์ออยส์ จำกัด ที่ผู้ร้องไปซื้อรถยนต์บรรทุกคันพิพาทมา และบริษัทอ่าวไทยปิโตเลี่ยมจำกัด เดิมมีชื่อว่าบริษัทแหลมทองแก๊สทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งพ้องกับชื่อของบริษัทแหลมทองแก๊สแอนด์ออยส์ จำกัด ด้วย แสดงว่าบริษัททั้งสองมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น หากบริษัทอ่าวไทยปิโตรเลี่ยม จำกัด จะต้องเช่ารถยนต์บรรทุกก๊าซจากผู้อื่นแล้วก็ควรจะเช่าจากบริษัทแหลมทองแก๊สแอนด์ออยส์ จำกัด โดยตรงหาจำต้องเช่าจากผู้ร้องซึ่งไปซื้อรถยนต์บรรทุกก๊าซมาจากบริษัทแหลมทองแก๊สแอนด์ออยส์ จำกัด อีกต่อหนึ่งไม่ สำหรับที่ผู้ร้องอ้างว่ามีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันพิพาทตามทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ร.5 นั้น ก็เห็นว่าทะเบียนรถยนต์เป็นเพียงบันทึกแสดงการจดทะเบียนของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับรายละเอียดของรถเท่านั้น หาใช่หลักฐานแสดงว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถนั้นไม่ สรุปแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางคันหมายเลขทะเบียน 70-8612 กรุงเทพมหานคร ที่แท้จริง ประเด็นข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย…”
พิพากษายืน.

Share