แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบการค้าข้าวโดยซื้อข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศในปี พ.ศ. 2504 และ 2510 โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 2 ชนิด 1 (ข) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า มีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษีตามอัตราในบัญชี และรายรับจากการค้าประเภทการค้าข้าวหมายความรวมถึงเงินที่ได้รับหรือพึงได้จากการขายข้าวซึ่งไม่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นข้าวที่ได้มาหรือได้รับช่วงมาจากผู้ประกอบกิจการตามประเภทการค้า 2 ชนิด 1 (ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า (การสีข้าวทุกชนิด)
โจทก์อ้างว่าข้าวที่โจทก์ส่งไปจำหน่ายเป็นข้าวที่โจทก์ซื้อจากบรรดาโรงสีต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร มีใบเสร็จรับเงินที่โรงสีข้าวนั้นๆ ออกให้เป็นหลักฐาน เมื่อทางนำสืบรับฟังได้ว่าผู้ที่ขายข้าวให้โจทก์ตามใบเสร็จดังกล่าวมิใช่ผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 2 ชนิด 1 (ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า จึงถือไม่ได้ว่าใบเสร็จนั้นเป็นหลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ซื้อข้าวจากผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 2 ชนิด 1 (ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า (การสีข้าวทุกชนิด) โจทก์จึงต้องมีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับในการที่ขายข้าวที่ซื้อมาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อข้าวมาจากโรงสีซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวตามประเภทการค้า ๒ ชนิด ๑ (ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า โรงสีดังกล่าวออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีบำรุงเทศบาลอีก ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าของจำเลย กับเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทโจทก์ประกอบกิจการค้าข้าว โดยซื้อข้าวในประเทศส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ มีปัญหาเฉพาะรายรับจากการส่งข้าวไปจำหน่ายยังต่างประเทศของโจทก์ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม ๒๕๐๙ และตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๑๐ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยตามประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๐๔ และโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๐๘ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า ๒ ชนิด ๑ (ข) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า มีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษีตามอัตราในบัญชีอัตราภาษีการค้าดังกล่าวนั้นและรายรับจากการค้าประเภทการค้าข้าวหมายความรวมถึงเงินที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายข้าวซึ่งไม่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นข้าวที่ได้มาหรือได้รับช่วงมาจากผู้ประกอบกิจการตามประเภทการค้า ๒ ชนิด ๑ (ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า (การสีข้าวทุกชนิด)
มีปัญหาว่าใบเสร็จรับเงินตามเอกสารชุดหมาย จ.๑ ถึง จ.๒๔ จำนวน ๖๗๗ ฉบับที่บริษัทโจทก์อ้างว่าผู้ขายข้าวออกให้แก่บริษัทโจทก์นั้น เป็นหลักฐานแสดงว่าเป็นข้าวที่ได้มาหรือได้รับช่วงมาจากผู้ประกอบกิจการตามประเภทการค้า ๒ ชนิด ๑ (ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ไม่มีพยานซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าโรงสีหรือตัวแทนที่ขายข้าวให้โจทก์มาเบิกความยืนยันว่าได้ขายข้าวให้แก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๒๔ พยานโจทก์คงมีแต่กรรมการผู้จัดการและพนักงานของบริษัทโจทก์เอง ซึ่งนำสืบลอยๆ ว่าโจทก์รับซื้อข้าวจากโรงสีต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เมื่อโรงสีที่ขายข้าวนำใบเสร็จรับเงินมาเก็บเงิน เจ้าหน้าที่ของบริษัทโจทก์จะตรวจดูว่าใบเสร็จรับเงินนั้นถูกต้องหรือไม่ คือมีชื่อโรงสีผู้ประกอบการค้า ตำบลที่อยู่และหมายเลขทะเบียนการค้าหรือไม่ หากเห็นว่าถูกต้อง ก็จ่ายเงินให้ไปนั้น เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวไม่พอรับฟังว่าที่บริษัทโจทก์ซื้อข้าวตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นการซื้อข้าวจากผู้ประกอบการค้าประเภทโรงสี ตามประเภทการค้า ๒ ชนิด ๑ (ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าได้ พยานจำเลยมีนายวิวัฒน์พนักงานภาษีโท กรมสรรพากรจังหวัดต่างๆ ประมาณ ๒๐ จังหวัดมาเบิกความประกอบกับเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๑๘ ว่า ใบเสร็จรับเงินตามเอกสารชุดหมาย จ.๑ ถึง จ.๒๔ จำนวน ๖๗๗ ฉบับนั้น เป็นใบเสร็จรับเงินที่ไม่ถูกต้อง กล่าวคือไม่มีชื่อโรงสีหรือผู้ประกอบการค้าข้าวอยู่ในท้องที่ตามที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงินและชื่อตามใบเสร็จรับเงินไม่ได้จดทะเบียนการค้าเลขทะเบียนการค้าในใบเสร็จรับเงินบางฉบับเป็นของผู้อื่นและประกอบการค้าประเภทอื่น ชื่อในใบเสร็จรับเงินบางรายการตรงกับผู้ประกอบกิจการโรงสี แต่ผู้ประกอบกิจการโรงสีที่แท้จริงยืนยันว่า ไม่เคยขายข้าวให้โจทก์และใบเสร็จรับเงินไม่ใช่ของตนด้วย เห็นว่าพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ รับฟังได้ว่าผู้ที่ขายข้าวในบริษัทโจทก์ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารชุดหมาย จ.๑ ถึง จ.๒๔ มิใช่เป็นผู้ประกอบการค้าประเภท ๒ ชนิด ๑ (ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าจึงถือไม่ได้ว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้ซื้อข้าวมาจากผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า ๒ ชนิด ๑ (ก) แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า (การสีข้าวทุกชนิด) โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับในการขายข้าวที่ซื้อมาดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินรวม ๖๗๗ ฉบับตามเอกสารชุดหมาย จ.๑ ถึง จ.๒๔ เป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน