คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1881/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 499,375 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 287,808.90 บาทพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 213,191.78 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2เป็นอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจทก์และจำเลยที่ 3 ที่ 4ต่างขาดความระมัดระวังด้วยกัน พฤติการณ์มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันจึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 143,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 106,250 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 อนุมัติ ให้จ่ายเงินตามเช็คโดยประมาทเลินเล่อแต่ฝ่ายเดียว หากฟังว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ความเสียหายส่วนที่โจทก์ ก่อก็มีเพียงเล็กน้อย จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดต่อโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น เป็นฎีกา ในข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่าง โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน499,375 บาท คืนแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้น 470,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์มีหน้าที่จะต้องเก็บรักษาสมุดเช็คอันเป็นเอกสารสำคัญไว้ในที่มั่นคงและปลอดภัยตามที่ธนาคารได้ให้คำเตือนไว้แล้ว กรณีที่เช็คซึ่งโจทก์ยังมิได้สั่งจ่ายสูญหายไป โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะมิได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาเช็ค โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 3 และที่ 4กระทำหน้าที่ภายในขอบเขตและตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1โดยปราศจากความประมาทเลินเล่อ จึงไม่ต้องรับผิดฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 287,808.90 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 270,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (26 กันยายน 2535) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 213,191.78 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน200,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (26 กันยายน 2535)เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 143,437.50 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 4ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 106,250 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 499,375 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 287,808.90บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 213,191.78 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจทก์และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ต่างขาดความระมัดระวังด้วยกันพฤติการณ์มิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 143,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 106,250 บาทพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 อนุมัติให้จ่ายเงินตามเช็คโดยประมาทเลินเล่อแต่ฝ่ายเดียว หากฟังว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ความเสียหายส่วนที่โจทก์ก่อก็มีเพียงเล็กน้อยจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดต่อโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่เกิน 200,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share