คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6921/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องบรรยายว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ทั้งสองเครื่องหมายการค้าหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้และที่ยื่นขอจดทะเบียน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยโจทก์ได้แนบเอกสารเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และระบุรายละเอียดในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของจำเลยโดยแนบเอกสารมาท้ายฟ้องด้วย ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งจำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” กับอักษรไทยคำว่า “แจ็คสัน” และเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าจากบริษัท จ. ส่วนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า แม้จะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนแต่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับกางเกงยีนที่โจทก์ตกลงให้บริษัท ด.เป็นตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์ด้านหน้าดีกว่าจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จะยังมิได้มีการจดทะเบียน โจทก์ก็มีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ จำเลยได้ โดยนัยแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้เพิ่มอักษรโรมันตัว G เข้าไปที่ข้างท้ายคำว่า “JACKSON” อีก 1 ตัว ส่วนลักษณะการเขียนตัวอักษรและการวางตัวอักษรเหมือนกันสำเนียงเรียกขานคล้ายกันและโดยเฉพาะป้ายติดกางเกงยีนอักษรตัว G ปักด้วยด้ายสีขาวและ อยู่บนพื้นสีขาว ส่วนตัวอักษรอื่นอีก 7 ตัว คือ JACKSONปักด้วยด้ายสีดำ หาไม่เพ่งพินิจและสังเกตให้รอบคอบจะไม่เห็นตัวอักษร G ดังกล่าวส่อเจตนาของจำเลยว่ามุ่งจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้รูปภาพคนใส่กางเกงยีนและสีสันบนป้ายโฆษณาซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของจำเลยเหมือนกับป้ายยี่ห้อและป้ายโฆษณาซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของโจทก์ทุกประการเครื่องหมายการค้าของจำเลยแม้จะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีเส้นตรงขีดอยู่ใต้อักษรโรมันคำว่า “JACKSONG”แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นรายละเอียดปลีกย่อย สาระสำคัญและจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “JACKSON”ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้าย กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนหลงผิด การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นคำขอจดทะเบียน และนำไปใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์ ย่อมเป็นการลวงให้สาธารณชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “แจ็คสัน” และอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” กับเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคำว่า “JACKSON”มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าใช้กับสินค้าจำพวก 38 รายการสินค้ากางเกงยีนส์ผลิตออกจำหน่ายแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าใช้กับสินค้าจำพวก 38 รายการสินค้าทั้งจำพวกแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSONG” และ “JACKSONG”มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าของจำเลยที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ตามคำขอเลขที่ 155828 และ 155875 ไม่สามารถจดทะเบียนให้โจทก์ได้เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวเหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ใช้กับสินค้าจำพวก 38 รายการสินค้ากางเกงยีนทำให้ประชาชนหลงเชื่อและเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ห้ามผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSONG” และ “JACKSONG” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่าเครื่องหมายการค้าจำเลยเครื่องหมายการค้าใดที่เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว และจำเลยละเมิดเครื่องหมายการค้าอันใดของโจทก์ ทำให้จำเลยยื่นคำให้การได้ไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของและไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “แจ็คสัน” และอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” กับคำว่า “JACDSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าตัวอักษรเครื่องหมายการค้าทั้งสองของจำเลยไม่เหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 155828 และ 155875 ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSONG” และคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอ ให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 159307 ของโจทก์นั้น เป็นการขอบังคับบุคคลภายนอก จึงให้ยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” กับอักษรไทยคำว่า “แจ็คสัน” ตามคำขอเลขที่ 102488 ทะเบียนเลขที่ 66053สำหรับสินค้าในจำพวก 38 รายการสินค้ากางเกงยีน โดยได้รับโอนมาจากบริษัทแจ๊สัน การ์เมนต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่26 มีนาคม 2529 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSONG” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าอักษร กับคำว่า”JACKSONG” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าอักษร สำหรับสินค้าจำพวก 38 รายการสินค้าทั้งจำพวก เมื่อวันที่ 28 และ 30 พฤษภาคม 2529 ตามคำขอเลขที่ 155828 และ 155875 ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2529โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้
ปัญหาข้อแรก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องบรรยายว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ทั้งสองเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้และที่ยื่นขอจดทะเบียนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยโจทก์ได้แนบเอกสารเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และระบุรายละเอียดในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของจำเลยโดยแนบเอกสารมาท้ายฟ้องด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งจำเลยสามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อที่ 2 มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนหลงผิดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON”กับอักษรไทยคำว่า “แจ็คสัน” และเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า โดยซื้อจากบริษัทแจ็คสัน การ์เมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2528 แต่เพิ่งทำสัญญาโอนกันเมื่อ พ.ศ. 2529 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ออกหนังสือรับรองว่าโจทก์เป็นเจ้าของโดยได้รับโอนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “JACKSON” กับอักษรไทยคำว่า “แจ็คสัน” แล้ว ส่วนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้า แม้จะยังไม่ได้รับการจดทะเบียน แต่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSON”มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้ากับกางเกงยีนที่โจทก์ตกลงให้ บริษัทเดสมอนต์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายในแถบประเทศตะวันออกกลางตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2528 ก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JACKSONG” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า”JACKSON” มีรูปกีตาร์อยู่ด้านหน้าดีกว่าจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จะยังมิได้มีการจดทะเบียน แต่เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาก่อนโจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย จึงยกขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลสั่งให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ โดยนัยแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนปัญหาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนหลงผิดหรือไม่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้เพิ่มอักษรโรมันตัว G เข้าไปที่ข้างท้ายคำว่า “JACKSON” อีก 1 ตัว ส่วนลักษณะการเขียนตัวอักษรและการวางตัวอักษรเหมือนกัน สำเนียงเรียกขานคล้ายกันและโดยเฉพาะป้ายติดกางเกงยีนอักษรตัว G ปักด้วยด้ายสีขาวและอยู่บนพื้นสีขาวส่วนตัวอักษรอื่นอีก 7 ตัว คือ JACKSON ปักด้วยด้ายสีดำ หากไม่เพ่งพินิจและสังเกตให้รอบคอบจะไม่เห็นตัวอักษร G ดังกล่าวส่อเจตนาของจำเลยว่ามุ่งจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีที่มาจากนำชื่อนายเจ๊ก วิลเลี่ยม สามีของนางทิพวรรณและชื่อนายบุญสงค์ ประจันพล สามีของนางนงเยาว์มาผสมกันและเขียนเป็นคำว่า “JACKSON” ซึ่งหากเป็นจริง เหตุใดจึงไม่เขียนตัวอักษร G ด้วยสีดำให้ชัดเจนเหมือนอักษรตัวอื่น นอกจากนี้รูปภาพคนใส่กางเกงยีนและสีสันบนป้ายโฆษณาซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของจำเลยเหมือนกับป้ายยี่ห้อและป้ายโฆษณาซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของโจทก์ทุกประการ พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแม้จะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กล่าวคือเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีเส้นตรงขีดอยู่ใต้อักษรโรมันคำว่า “JACKSONG” แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นรายละเอียดปลีกย่อย สาระสำคัญและจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “JACKSON” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขาน พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมุ่งจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนหลงผิด การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นคำขอจดทะเบียนและนำไปใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์เป็นการลวงให้สาธารณชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
พิพากษายืน

Share