คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 897/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม2524 โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ ต่อมาจำเลยได้ออกคำสั่งอีกฉบับหนึ่งมีความว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติว่าการลงโทษโจทก์รุนแรงเกินไป จึงให้ยกเลิกคำสั่งเดิมเสียทั้งสิ้นและให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2527ดังนี้ ข้อความในคำสั่งฉบับหลังเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยได้ยกเลิกคำสั่งเดิมที่ไล่โจทก์ออกจากงานนั้นทั้งหมด ไม่ให้มีผลบังคับต่อไปโดยกำหนดโทษเป็นให้ออกจากงาน เมื่อคำสั่งเดิมได้กำหนดวันเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ผลของการเปลี่ยนแปลงโทษจึงต้องถือว่ามีผลบังคับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างนั้นด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับของจำเลยนับแต่วันนั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2524 จำเลยมีคำสั่งที่ พ.1/นท.1/3729/2524 ให้พักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 โดยกล่าวหาว่าโจทก์เบิกเบี้ยเลี้ยงรอทำขบวนเท็จ ครั้นวันที่ 21 สิงหาคม 2524 จำเลยได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์เบิกเบี้ยเลี้ยงรอทำขบวนเท็จ และขาดงานเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและให้ไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 โจทก์ได้ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อจำเลย จนวันที่ 14 ธันวาคม 2527 จำเลยได้มีคำสั่งที่พ.1/นท.1/8445/2527 ว่า การไล่ออกตามคำสั่งเดิมนั้นรุนแรงเกินไปจึงให้ยกเลิกคำสั่งเดิมโดยให้ลงโทษโจทก์ใหม่ในข้อหาเดียวกันแต่เปลี่ยนเป็นให้ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2527ข้อกล่าวหาของจำเลยไม่เป็นความจริงโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนการขาดงานนั้นโจทก์มีความจำเป็นเพราะบุตรสาวของโจทก์คลอดบุตรก่อนกำหนด คำสั่งที่ให้โจทก์ออกงาน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยจะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน คำสั่งของจำเลยที่ให้ยกเลิกคำสั่งที่ให้ไล่โจทก์ออกจึงมีผลว่านับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2527 เป็นช่วงเวลาที่โจทก์ไม่มีความผิด จำเลยให้โจทก์หยุดงานโดยไม่มีเหตุผล จึงต้องใช้ค่าเสียหายในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยยกเลิกคำสั่งที่ พ.1/นท.1/3729/2524 ที่ให้พักงานโจทก์และคำสั่งที่พ.1/นท.1/8445/2527 ที่สั่งให้โจทก์ออกจากงานให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมโดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องกันเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างและค่าครองชีพแต่ละเดือนนับแต่วันที่สั่งพักงานโจทก์จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้จำเลยปรับค่าจ้างปูนบำเหน็จประจำปี 2525 ถึง 2527 ปีละหนึ่งขั้นให้โจทก์ หากศาลเห็นว่าจำเลยไม่ควรรับโจทก์เข้าทำงานก็ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือบำนาญปีละหนึ่งเดือนของค่าจ้างรวมค่าครองชีพพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้าง กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2527 เป็นเงิน161,460 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยพักงานและไล่โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ได้กระทำผิด ซึ่งต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งไล่ออกโดยเป็นการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการรถไฟซึ่งมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของจำเลย จำเลยมีอำนาจลงโทษให้ออกได้ตามข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ คำสั่งให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นคำสั่งที่ชอบและมีผลใช้บังคับได้ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยรับกลับเข้าทำงานและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ คำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเป็นคุณแก่โจทก์เพราะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับของจำเลยนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงโทษเป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงโทษมิใช่ว่าโจทก์ไม่มีความผิด ดังนั้นช่วงเวลานับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ถึงวันที่30 ตุลาคม 2527 ที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงว่า การที่จำเลยมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยจากไล่ออกมาเป็นให้ออกนั้น คำสั่งให้ออกของจำเลยมีผลตั้งแต่เมื่อใด ถ้าศาลพิพากษาว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2527 จำเลยจะต้องจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนตามระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้โจทก์นับแต่วันที่คำสั่งให้ออกมีผลเป็นต้นไป ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าประเด็นที่ขอให้วินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งไม่จำเป็นต้องสืบพยาน ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า รายงานการประชุมคณะกรรมการรถไฟซึ่งมีมติให้เปลี่ยนแปลงการลงโทษโจทก์จากไล่ออกเป็นให้ออกนั้นมิได้กำหนดว่าคำสั่งที่ให้ออกมีผลตั้งแต่วันใด คำสั่งให้ออกก็มีข้อความให้ยกเลิกคำสั่งไล่ออกเสียทั้งสิ้นจึงเป็นการเปลี่ยนโทษ การเปลี่ยนคำสั่งจึงต้องมีผลนับตามระยะเวลาตามคำสั่งเดิมจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกำหนดให้มีผลนับจากวันอื่นโดยไม่มีระเบียบข้อบังคับให้อำนาจจำเลยไว้ การที่จำเลยมีคำสั่งให้ออกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2527 จึงไม่อาจทำได้และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จะได้รับเงินสงเคราะห์ตามระเบียบการรถไฟว่าด้วยกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยและตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งให้ออกตามเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 2 โดยให้โทษให้ออกนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งไล่ออกเอกสารหมายจ.4 ส่วนสิทธิที่โจทก์จะได้รับเงินสงเคราะห์ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเมื่อจำเลยออกคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.8 ยกเลิกคำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงโทษไล่ออกเป็นให้ออกตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2527 เช่นนี้ คำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8 หาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8มีความว่าเนื่องจากโจทก์ได้ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติว่า การลงโทษโจทก์รุนแรงเกินไป จึงให้ยกเลิกคำสั่งที่พ.1/นท.1/4580/2524 เสียทั้งสิ้น และให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2527 ข้อความดังกล่าวนี้ย่อมเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยได้ยกเลิกคำสั่งที่ พ.1/นท.1/4580/2524 ตามเอกสารหมาย จ.4 ที่สั่งไล่โจทก์ออกจากงานนั้นทั้งหมดไม่ให้มีผลบังคับต่อไปโดยกำหนดโทษเป็นให้ออกจากงาน เมื่อคำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้กำหนดวันเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ผลของการเปลี่ยนแปลงโทษจึงต้องถือว่ามีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างด้วย การลงโทษฐานให้ออกจากงานนี้ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยและตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามข้อบังคับของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย
พิพากษายืน.

Share