แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
1.ฟ้องว่าแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาลแบะสังฆมนตรี แต่ไม่ระบุว่าเป็นใคร นั้นเป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนที่หาว่าแจ้งความเท็จต่อสังฆนายกแม้ไม่ระบุว่าเป็นใคร นั้น ไม่เคลือบคลุม เพราะใคร ๆ รวมทั้งจำเลยก็เข้าใจ และในขณะฟ้องนั้นสังฆนายกก็มีองค์เดียวเท่านั้น
2,ความผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 นั้น ไม่ต้องระบุว่าบุคคลที่ 3 นั้นเป็นใคร เพราะบุคคลที่ 3 นี้อาจเป็นใครก็ได้
3,เมื่อปรากฎว่าที่เกิดเหตุนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลและศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นั้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161.
ย่อยาว
สำนวนที่ ๑ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗,๓๒๖,๓๓๒
สำนวนที่ ๒ – ๓ – ๔ ก็ทำนองเดียวกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วพิพากษาคดีโจทก์ไม่มีมูล ให้ยกฟ้องทั้ง ๔ สำนวน
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้ง ๔ สำนวน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยต้องกันว่าคดีดำที่ ๘๗๕๒ – ๘๗๕๓/๒๕๐๓ ของศาลชั้นต้น (สำนวนที่ ๑ – ๒ ) ข้อ ๒ ก. และคดีดำที่ ๑๒๐ – ๑๒๑/๒๕๐๔ (สำนวนที่ ๓ – ๔ ) ข้อ ๒ โจทก์กล่าวฟ้องตรงกันว่า จำเลยแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาล กับสำนวนที่๑ – ๒ ข้อ ๒ ข. กล่าวหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาลและสังฆมนตรี โจทก์มิได้ระบุเจ้าพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาลเป็นใคร และไม่ปรากฎว่า สังฆมนตรีองค์ไหน จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา
ส่วนฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยเจตนาร้ายใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ ๓ นั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ไม่จำต้องระบุว่าบุคคลที่ ๓ เป็นใคร กรณีต่างกับฟ้องเรื่องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพราะกรณีนั้นคุณสมบัติของผู้รับแจ้งเป็นข้อสำคัญที่จะทำให้เกิดเป็นความผิดดังโจทก์กล่าวหา ส่วนเรื่องหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ คุณสมบัติของบุคคลที่ ๓ หาใช่ข้อสำคัญไม่ บุคคลที่ ๓ นั้นอาจเป็นใครก็ได้ ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์ในข้อหาฐานนี้จึงสมบูรณ์ตามกฎหมายและพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่เคลือบคลุม ชอบที่จะรับไว้พิจารณาต่อไป ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ฟ้องคดีอาญาดำที่ ๘๗๕๒ – ๘๗๕๓/๒๕๐๓ ของศาลชั้นต้น (สำนวนที่ ๑ – ๒) ข้อ ๒ ข. โจทก์ระบุว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อสังฆนายกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า สังฆนายกมีอยู่องค์เดียวขณะที่โจทก์ฟ้อง แม้จะไม่ระบุพระนาม ใคร ๆ ตลอดจนจำเลยก็ย่อมทราบได้ดีว่าขณะนั้นสังฆนายกของประเทศไทยคือใคร ฟ้องของโจทก์สำนวนที่ ๑ – ๒ เฉพาะที่ระบุว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อสังฆนายกจึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับไว้พิจารณาต่อไปในข้อที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อสังฆนายกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๓๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนฎีกาข้อ ๒ ของโจทก์ที่ว่า คดีอาญาดำที่ ๑๒๑/๒๕๐๔ ของศาลชั้นต้น (สำนวนที่ ๔) เมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลชั้นต้นจะรับไว้ชำระได้แล้ว ก็ชอบที่จะไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีไป นั้น
ปรากฎตามฟ้องว่า เหตุเกิดที่ที่ทำการตำรวจสันติบาลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครใต้ และโจทก์ขอให้พิจารณารวมกับคดีอื่นที่ฟ้องอีก ๓ สำนวน และปรากฎในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยได้ให้การต่อพันตำรวจเอกชลอ อุกทกภาชน์ พนักงานสอบสวนที่บ้านจำเลยซึ่งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร ซึ่งมิได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครใต้ อันเป็นศาลชั้นต้น ในข้อนี้โจทก์มิได้ยืนยันว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวงพระนครใต้ที่จะพิจารณาพิพากษาได้ หากแต่โจทก์ฎีกาเพียงว่าเมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลจะรับไว้ชำระได้แล้ว ก็ชอบที่จะไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีไป
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๑
พิพากษาแก้ว่า ฟ้องโจทก์สำนวนที่ ๑ – ๒ มีมูลเฉพาะความผิดมาตรา ๑๓๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อสังฆนายก และฟ้องของโจทก์ในข้อหาฐานหมิ่นประมาททุกสำนวน นอกจากสำนวนที่ ๔ มีมูล ให้ศาลชั้นต้นประทับรับฟ้องในข้อเหล่านี้ ฯลฯ