คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีที่กรมสรรพากรโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินกลับคืนมาเป็นมรดกของ น. ที่ค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรอยู่แก่โจทก์ มิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งตามมาตรา 31 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 10 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2520นายนิพัทธ์ จิระนคร มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์โดยเจตนามุ่งการค้ากำไรเป็นเงินทั้งสิ้น 9,530,000 บาท โดยไม่ได้จดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้าให้ถูกต้องตามกฎหมายเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้า เงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิ เบี้ยปรับตามมาตรา 89(1) และภาษีเทศบาลโดยคำนวณเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีเทศบาลถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2520รวมเป็นเงินภาษีการค้าที่นายนิพัทธ์จะต้องชำระทั้งสิ้น1,236,776.64 บาท นายนิพัทธ์ได้รับแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2520 ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2521นายนิพัทธ์ได้ผ่อนชำระเงินภาษีให้แก่โจทก์หลายครั้ง คงค้างชำระอีกเพียง 1,227,074.65 บาท ต่อมา วันที่ 16 ธันวาคม 2522นายนิพัทธ์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ในฐานะภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดก จึงต้องรับผิดชำระเงินภาษีดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีเทศบาล จากจำนวนภาษีที่ค้างตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2529เป็นเงินเพิ่ม 218,870.87 บาท และเงินภาษีเทศบาล 21,887.08 บาทรวมค่าภาษีทั้งสิ้น 1,467,832.60 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉยแต่ยอมรับว่านายนิพัทธ์เป็นหนี้ภาษีการค้าโจทก์จริง และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้แทนได้ ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์ของนายนิพัทธ์ขายทอดตลาดต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริตจงใจโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 เฉพาะส่วนของนายนิพัทธ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 186,000 บาท ต่ำกว่าราคาปานกลางของที่ดิน โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการโอนที่ดินให้แก่กันดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์เพราะจำเลยทั้งสองรู้ดีว่านายนิพัทธ์เป็นหนี้ภาษีการค้าโจทก์อยู่การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ตามเดิมแล้วจำเลยทั้งสองกลับเพิกเฉย นายนิพัทธ์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ค่าภาษีได้อีก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินอันเป็นฉ้อฉลของจำเลยทั้งสอง ให้ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนให้ถือคำสั่งศาลแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองโอนขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 แก่กันจริง แต่เป็นการโอนขายโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนซื้อขายกันถูกต้องตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบว่านายนิพัทธ์มีหนี้สินค้างชำระโจทก์อยู่จึงไม่เป็นการฉ้อฉลและไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าว และโจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2526 แต่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2529 พ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นข้อมูลให้เพิกถอน จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างจำเลยทั้งสองหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในอายุความ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายนิพัทธ์เจ้ามรดกค้างชำระค่าภาษีอากรต่อโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน2526 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 ตั้งอยู่ที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เฉพาะส่วนของนายนิพัทธ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 186,000 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ตามเดิมและจำเลยทั้งสองเพิกเฉย นายนิพัทธ์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ค่าภาษีอากรอีก โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินอันเป็นการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดสงขลามีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสงขลาหรืออยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีอากรของศาลแพ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่19 มิถุนายน 2529 ได้จัดตั้งแผนกคดีอากรขึ้นในศาลแพ่ง โดยเปิดทำการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 และแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งมีอำนาจและเขตอำนาจเช่นเดียวกับศาลภาษีอากรกลางซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 กลับคืนมาเป็นมรดกของนายนิพัทธ์ที่ค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรอยู่แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งตามมาตรา 31 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 10 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลจังหวัดสงขลารับฟ้องคดีนี้ของโจทก์ไว้พิจารณาชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share