คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8952/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 31 บัญญัติว่าผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามปีแต่ไม่เกินแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบการนั้นและรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการดังกล่าวให้รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร จากบทกฎหมายข้างต้น เงินได้ของโจทก์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการนั้น จะต้องเป็นเงินได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามที่ระบุในบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมทั้งรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
เมื่อตามบัตรส่งเสริมการลงทุน โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ และการถลุงแร่สังกะสี การผลิตแปรรูปหรือแปรสภาพโลหะ ZINCALLOY การผลิตโลหะ CADMIUMประเภทการถลุงแร่ เช่นนี้ รายได้เงินดอกเบี้ยรับจากตั๋วสัญญาใช้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และบัญชีเงินฝากประจำที่โจทก์ได้รับจากสถาบันการเงินอันเป็นรายได้อื่นที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์นำเงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมมาเพื่อใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปฝากไว้กับสถาบันการเงิน จึงมิใช่เงินรายได้จากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ตามที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและมิใช่เป็นรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้หรือเป็นรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามความในมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯและแม้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะไม่มีคำจำกัดความคำว่า “รายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม” ไว้โดยเฉพาะ แต่วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในประเทศสนองความต้องการของประเทศในการเร่งรัดการลงทุนเพื่อประโยชน์ในการสร้างงานการเพิ่มรายได้และการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนโดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนดังนั้น การประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจึงต้องหมายถึงการประกอบการงานที่ได้รับการส่งเสริมตามบัตรส่งเสริมการลงทุนเท่านั้นรายได้ดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับจากสถาบันการเงินดังกล่าวย่อมถือเป็นรายได้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ตามพฤติการณ์แห่งคดี กรณีเป็นเรื่องโจทก์แปลความหรือเข้าใจความหมายของรายได้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีผิดไป เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางว่า ในชั้นเรียกตรวจสอบภาษีอากรรายนี้ โจทก์ได้ให้ความร่วมมือมอบเอกสาร มอบบัญชี และหลักฐานต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยดีตลอดมา แสดงถึงโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เบี้ยปรับเป็นบทลงโทษผู้ที่ชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ อันเป็นพฤติการณ์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรเมื่อโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร โจทก์จึงสมควรได้รับการงดเบี้ยปรับทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2538 เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 1ได้ออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึง 31 ธันวาคม 2535 ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 12,869,459.66 บาท เบี้ยปรับจำนวน 12,869,459.66 บาทและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2538 จำนวน 5,984,298.74 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 31,723,218 บาท โดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์มิได้นำดอกเบี้ยรับจากตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินฝากกระแสรายวันจำนวน 42,331,395.60 บาท ดอกเบี้ยรับเงินฝากประจำจำนวน 566,803.28 บาทมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2542โดยวินิจฉัยว่า โจทก์มีรายได้ดอกเบี้ยรับจากการฝากเงินโดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินสถาบันการเงินจำนวน 42,331,395.60 บาท และจากบัญชีเงินฝากประจำจำนวน 566,803.28 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ 2.4 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530 การประเมินของเจ้าพนักงานถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีมีเหตุอันควรผ่อนผันจึงพิจารณาลดเบี้ยปรับเหลือเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายคงเรียกเก็บภาษีจำนวน 12,869,459.66 บาท เบี้ยปรับจำนวน 6,434,729.83 บาท เงินเพิ่มจำนวน 5,984,298.74 บาท รวมเป็นเงิน25,288,488.23 บาท โจทก์ได้รับทราบคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2542 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่และถลุงแร่สังกะสีได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2524ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้กำหนดสิทธิและประโยชน์ให้โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึง 31 ธันวาคม2535 โจทก์นำเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดจากการดำเนินกิจการไปฝากไว้ยังสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาเงินลงทุน และได้ดอกผลจากเงินฝากตามปกติวิสัยของการฝากเงินในสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากดังกล่าวเป็นดอกผลตามกฎหมายที่ได้รับจากเงินลงทุนหมุนเวียนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอันเป็นปกติธุระในการประกอบกิจการโจทก์ไม่ได้แสวงหาประโยชน์จากการนำเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องใช้ในกิจการไปลงทุนในกิจการอย่างอื่น ๆ ดอกผลดังกล่าวเป็นไปตามประเพณีทั่วไปของการดำเนินธุรกิจ ไม่มีการโยกย้ายเงินเพื่อเก็งกำไร ดอกเบี้ยรับดังกล่าวจึงมิใช่กิจการที่อยู่นอกเหนือกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โจทก์จึงไม่จำต้องนำรายรับดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มิได้บัญญัติคำจำกัดความของคำว่า “การประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม” ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องแปลตามความหมายทั่วไปว่าหมายถึง การประกอบกิจการตามประเภทธุรกิจที่นำไปขอส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกันตามปกติวิสัยในการประกอบธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น อันได้แก่การผลิตการขายสินค้า การกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนในกิจการและการฝากเงินไว้ในสถาบันการเงิน รวมทั้งการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อให้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดำเนินไปได้ด้วยดีตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนการประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 และการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึง 4 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์2530 นั้น เป็นเพียงระเบียบภายในของกรมสรรพากรที่ออกไว้เพื่อชี้แจงให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ถือเป็นแนวปฏิบัติ ประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายและไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำประกาศดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์จำกัดสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ได้รับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ทั้งประมวลรัษฎากรไม่ได้ให้อำนาจจำเลยที่ 1กำหนดระเบียบดังกล่าวขึ้น โจทก์ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีด้วยดีตลอดมาไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร การที่โจทก์ชำระภาษีอากรผิดพลาดคลาดเคลื่อน เกิดเพราะความเข้าใจผิดโดยสุจริตว่ามีอำนาจกระทำได้ จึงมีเหตุสมควรที่โจทก์จะได้รับการพิจารณาลดเบี้ยปรับ สำหรับกรณีเงินเพิ่มนั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงสามารถลดหรืองดได้โดยสิ้นเชิง แม้ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติโดยตรงให้อำนาจศาลลดหรืองดก็ตาม แต่ก็มิได้บัญญัติห้ามไว้โดยเด็ดขาดว่า ศาลไม่มีอำนาจลดหรืองด ดังนั้น หากฟังว่าโจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มขึ้น ศาลมีอำนาจพิจารณางดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.6/1016/2/100834 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ของจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ภ.1 (อธ..4) /304/2542 ลงวันที่ 7 กันยายน 2542 ของจำเลยที่ 2ถึง 4 ให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมด

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบพบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับปี 2535 ไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยโจทก์มีรายได้ดอกเบี้ยรับจากตั๋วสัญญาใช้เงินและเงินฝากกระแสรายวัน 42,331,395.60 บาท ดอกเบี้ยรับเงินฝากประจำ566,803.28 บาท รวมเป็นดอกเบี้ยรับจำนวน 42,898,198.88 บาท ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ใช่รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้หรือรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำรายได้ดอกเบี้ยรับจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์ยื่นเสียภาษีขาดไป เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1จึงทำการปรับปรุง นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์เสียใหม่ให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งเมื่อทำการปรับปรุงรายการให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์มีกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี44,059,963 บาท ต้องชำระภาษี 13,217,988.90 บาท โจทก์ชำระไว้แล้ว(ตามแบบ ภ.ง.ด.50) จำนวน 348,529.24 บาท โจทก์จึงต้องชำระเพิ่มเติมอีก12,869,459.66 บาท โจทก์ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึง 4 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดอกเบี้ยรับที่โจทก์ได้รับจากสถาบันการเงินนั้นเป็นรายได้อื่นที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประชุมร่วมกันให้ความเห็นชอบและวางแนวทางเพื่อเป็นเงื่อนไขแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ปฏิบัติไปในทางเดียวกันหากผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขย่อมไม่ได้รับสิทธินั้น และประกาศฉบับนี้ก็เป็นคุณกับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมิได้เป็นการวางกรอบกำหนดจำกัดขอบเขตในการประกอบกิจการตามที่โจทก์อ้าง หากผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายใดไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ก็ไม่มีสภาพบังคับไว้แต่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศนี้เท่านั้น จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีเพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ของผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเพื่อกำหนดเงื่อนไขที่จะรับรองสิทธิทางภาษีอากรของผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากร ให้สอดคล้องกับมาตรา 31ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ประกาศฉบับนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย ตามประกาศฉบับนี้ ข้อ 2.4 คำว่า รายได้ประเภทดอกเบี้ยหรือรายได้อย่างอื่นที่เกิดจากการใดอันเป็นปกติธุระในการประกอบกิจการนั้น หมายถึง รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการตามปกติของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน รายได้ดังกล่าวนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากรด้วยโจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่แต่รายได้ดอกเบี้ยรับของโจทก์ไม่ใช่รายได้ที่เกิดจากการอันเป็นปกติธุระในการประกอบกิจการตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งไม่ปรากฏว่าดอกเบี้ยรับ ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากรให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รายได้ดอกเบี้ยรับของโจทก์ดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ถึง 4 ชอบแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับให้โจทก์แล้ว คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายนั้น ไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะพิจารณางดหรือลดได้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่อาจพิจารณางดหรือลดให้ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า เงินดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับจากการฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินในรูปตั๋วสัญญาใช้เงิน บัญชีเงินฝากประจำ และบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าว เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520มาตรา 31 บัญญัติว่า ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามปีแต่ไม่เกินแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบการนั้น และรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการดังกล่าวให้รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร จากบทกฎหมายข้างต้นเงินได้ของโจทก์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการนั้น จะต้องเป็นเงินได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามที่ระบุในบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมทั้งรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร เมื่อตามบัตรส่งเสริมการลงทุนตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 1 และ 2 แผ่นที่ 6 และ 7 แผ่นที่ 13 และ14 กับแผ่นที่ 20 และ 21 โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ และการถลุงแร่สังกะสี การผลิตแปรรูปหรือแปรสภาพโลหะ ZINC ALLOY การผลิตโลหะ CADMIUN ประเภทการถลุงแร่เช่นนี้ รายได้เงินดอกเบี้ยรับจากตั๋วสัญญาใช้เงิน จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และจากบัญชีเงินฝากประจำที่โจทก์ได้รับจากสถาบันการเงินอันเป็นรายได้อื่นที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์นำเงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมมาเพื่อใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปฝากไว้กับสถาบันการเงินจึงมิใช่เงินรายได้จากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ตามที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและมิใช่เป็นรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้หรือเป็นรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า พระราชบัญญัติการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “รายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม”ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องแปลความไปตามความหมายทั่วไป ต้องหมายความรวมถึงรายได้ที่ได้เนื่องจากกิจการนั้นด้วย รายได้ที่โจทก์ได้รับจากดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงิน เงินฝากประจำและเงินฝากกระแสรายวัน เป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับเนื่องจากกิจการที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพราะเป็นเพียงเงินฝากธรรมดาตามปกติของกิจการไม่ใช่การนำเงินไปลงทุนในกิจการอื่นซึ่งไม่ใช่กิจการหลักที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น เห็นว่าแม้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 จะไม่มีคำจำกัดความไว้ดังอุทธรณ์ของโจทก์ แต่วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในประเทศสนองความต้องการของประเทศในการเร่งรัดการลงทุนเพื่อประโยชน์ในการสร้างงาน การเพิ่มรายได้ และการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น การประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จึงต้องหมายถึงการประกอบการงานที่ได้รับการส่งเสริมตามบัตรส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น รายได้ดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับจากสถาบันการเงินดังกล่าวย่อมถือเป็นรายได้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปมีว่า ประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จากการส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530 มีผลใช้บังคับจำกัดสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ได้รับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้เพราะโจทก์เห็นว่า ดอกเบี้ยรับตามกรณีคดีนี้อยู่ในความหมายของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 และตามบัตรส่งเสริมอยู่แล้ว จำเลยจึงไม่มีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ ขึ้นใช้บังคับว่า กิจการใดจะได้รับหรือไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในปัญหาประการแรกแล้วว่าดอกเบี้ยรับกรณีตามฟ้องของโจทก์นี้มิใช่รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ การวินิจฉัยดังกล่าวมิได้อาศัยหลักเกณฑ์ใด ๆ ตามประกาศของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเลย เช่นนี้ ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของโจทก์ดังคำวินิจฉัยข้างต้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยอีก

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า โจทก์สมควรที่จะได้รับการพิจารณางดเบี้ยปรับหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีกรณีเป็นเรื่องโจทก์แปลความหรือเข้าใจความหมายของรายได้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีผิดไป เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางว่า ในชั้นเรียกตรวจสอบภาษีอากรรายนี้ โจทก์ได้ให้ความร่วมมือมอบเอกสาร มอบบัญชี และหลักฐานต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยดีตลอดมา แสดงถึงโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เบี้ยปรับเป็นบทลงโทษผู้ที่ชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์อันเป็นพฤติการณ์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร เมื่อโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร โจทก์จึงสมควรได้รับการงดเบี้ยปรับทั้งหมดที่ศาลภาษีอากรกลางเพียงลดเบี้ยปรับแก่โจทก์หรือเรียกเก็บอัตราร้อยละ 50 ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้งดเบี้ยปรับทั้งหมดที่โจทก์จะต้องชำระตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share