แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 21(9) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ. 2482 เป็นบทบัญญัติที่ตัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความในทางรักษาสิทธิของผู้ต้องถูกตัดสิทธิ โดยคำนึงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ดังนั้น บุคคลที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งนั้น ย่อมหมายถึงบุคคลที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว
คำพิพากษาที่ให้จำคุกผู้คัดค้านของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด ผู้คัดค้านจึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ. 2495 มาตรา 10(4)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลบางน้ำเปรี้ยว โดยอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2539 ผู้คัดค้านต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุกตลอดชีวิตและถูกคุมขังอยู่ตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 และพ้นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลบางน้ำเปรี้ยวตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 10(4) ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสภาเทศบาลและพ้นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลบางน้ำเปรี้ยว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า กรณีที่จะเป็นเหตุให้กรรมการสุขาภิบาลพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 10(4) ต้องเป็นกรณีที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเท่านั้น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลบางน้ำเปรี้ยว
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลบางน้ำเปรี้ยว ระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งผู้คัดค้านต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุกตลอดชีวิต และถูกคุมขังอยู่ตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาผู้คัดค้านได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นฎีกาว่า ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลบางน้ำเปรี้ยวหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 10 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุขาภิบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 บัญญัติว่า “กรรมการสุขาภิบาลตามความในมาตรา 7(4) พ้นจากตำแหน่ง (4)เมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล” ซึ่งคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามดังกล่าว พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 21(9) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2523 บัญญัติถึงการเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งว่า “ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งนั้น” เห็นว่า มาตรา 21(9) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 เป็นบทบัญญัติที่ตัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความในทางรักษาสิทธิของผู้ต้องถูกตัดสิทธิ โดยคำนึงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ดังนั้น บุคคลที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งนั้น ย่อมหมายถึงบุคคลที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อคำพิพากษาที่ให้จำคุกผู้คัดค้านของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด ผู้คัดค้านจึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลบางน้ำเปรี้ยวตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 10(4)
พิพากษายืน