แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินค้าที่จำเลยค้างชำระ โดยบรรยายฟ้องเกี่ยวกับชนิดและจำนวนสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อพร้อมทั้งราคาและในเงื่อนไขการชำระเงิน ตลอดจนสถานที่ที่ให้โจทก์จัดส่งมอบสินค้าให้จำเลยโดยละเอียด พอที่จำเลยเข้าใจได้เป็นอย่างเดียวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์จำเลยตกลงกันว่า การชำระเงินค่าสินค้านั้นจำเลยจะต้องชำระภายในกำหนด 45 วันนับตั้งแต่วันสั่งของเสร็จ ถือได้ว่าการชำระหนี้รายนี้มีกำหนดเวลาชำระที่แน่นอนแล้วเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ถือได้ว่าจำเลยผิดนัด โจทก์ไม่ต้องทวงถามอีก
จำเลยอุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนจำนวนสินค้าและราคายังคลาดเคลื่อนเป็นอันมากโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทรณ์ที่ไม่ได้รับวินิจฉัยให้นั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งซื้อ เสาเข็มไอเซฟจากโจทก์หลายครั้งเพื่อใช้ในกิจการของจำเลย โจทก์ได้จัดส่งเสาเข็มขนาดต่างๆให้จำเลยตามสถานที่ที่จำเลยสั่งรวม ๔ แห่งคือหน่วยก่อสร้างที่โรงแรมราชา หน่วยก่อสร้างที่บริษัทไทยพลาสติก จำกัด หน่วยก่อสร้างที่มิตซูบิชิและที่หน่วยก่อสร้างไทยยาซากิ การชำระราคา จำเลยต้องชำระภายใน ๔๕ วัน เมื่อโจทก์ส่งเสาเข็มให้จำเลยครบแล้ว หากค้างชำระยอมให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี จำเลยชำระให้โจทก์ ๓ ครั้ง ยังค้างชำระทั้งหมดเป็นเงิน ๓๙๗,๓๒๘ บาท ๓๘ สตางค์ ขอศาลบังคับให้ชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่เคยสั่งซื้อหรือมอบให้ผู้ใดสั่งซื้อเสาเข็มจากโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่เคยรับเหมาก่อสร้าง ณ สถานที่ตามที่โจทก์ฟ้องทุกรายการ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม มิได้กล่าวว่า เสาเข็มที่โจทก์ขายให้จำเลยเป็นเสาเข็มชนิดและประเภทใด เป็นเสาไม้หรือเสาที่ทำด้วยวัสดุอะไร สั่งซื้อแต่เมื่อใด และไม่มีรายละเอียดของการสั่งซื้อ ก่อนฟ้องไม่เคยได้รับการทวงถาม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๓๙๕,๓๒๖ บาท ๗๐ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนราคาสินค้าและจำนวนยังคลาดเคลื่อนเป็นอันมาก ทั้งพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีฐานที่ตั้งอันแน่ชัดที่จะกำหนดจำนวนของสินค้าได้แน่นอนนั้น เห็นว่า จำเลยไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไร ไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๒๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บริษัทอวนินทร์ จำกัด โจทก์ กับบริษัท เอส.พี.เอ. จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีสำนักงานอยู่ที่เดียวกัน และมีนายศักดา บุณยรักษ์ เป็นผู้จัดการบริษัททั้งสอง คือทางด้านบริษัท เอส.พี.เอ. จำกัด เป็นฝ่ายผลิตเสาเข็มคอนกรีต ส่วนบริษัทอวนินทร์ จำกัด โจทก์เป็นฝ่ายจำหน่าย ตามหลักฐานใบส่งของที่จัดส่งเสาเข็มไปให้จำเลย ที่หน่วยงานโรงแรมราชาตามเอกสารหมาย จ.๗ ถึง จ.๕๗ ที่หน่วยงานมิตซูบิชิ ตามเอกสารหมาย จ.๖๐ ถึง จ.๗๔ ที่หน่วยงานไทยพลาสติก ตามเอกสารหมาย จ.๗๘ ถึง จ.๑๐๒ และที่หน่วยงานไทยยาซากิ ตามเอกสารหมาย จ.๑๐๔ ถึง จ.๑๒๑ นั้น ปรากฏชัดว่า บริษัทอวนินทร์ จำกัด โจทก์เป็นผู้จัดส่งไปทั้งสิ้น สำหรับฝ่ายจำเลยที่มีหนังสือสั่งซื้อไปนั้น ก็ปรากฏว่าที่หัวกระดาษตามเอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๖, จ.๕๘, จ.๕๙, จ.๗๕ ถึง จ.๗๗, จ.๑๐๓, จ.๑๒๒ ถึง จ.๑๒๕ เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ และมีตราของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ ประทับไว้ที่ลายเซ็นทั้งสิ้น ฟังได้ว่า บริษัทโจทก์ได้ขายสินค้าตามฟ้องให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายขอเรียกร้องมาในฟ้องเกี่ยวกับชนิดและจำนวนสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อ พร้อมทั้งราคาและเงื่อนไขในการชำระ ตลอดจนสถานที่ที่ให้โจทก์จัดส่งมอบสินค้าให้จำเลยโดยละเอียด พอที่จำเลยเข้าใจได้เป็นอย่างดีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ปัญหาว่าโจทก์ต้องทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกหรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบชัดว่า การชำระเงินค่าเสาเข็มนี้จำเลยจะต้องชำระภายในกำหนด ๔๕ วันนับแต่วันส่งของเสร็จ ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบคัดค้านในเรื่องนี้แต่อย่างใด ถือได้ว่าการชำระหนี้รายนี้มีกำหนดเวลาชำระที่แน่นอนแล้ว เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา ถือได้ว่าจำเลยผิดนัด โจทก์จึงไม่จำต้องทวงถามจำเลยอีก อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้โทรศัพท์ทวงถามจำเลยหลายครั้ง และให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปอีกตามเอกสารหมาย จ.๑๕๙ แต่ส่งให้จำเลยไม่ได้ โดยพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่าย้ายที่อยู่ ซึ่งความจริงยังอยู่ที่เดิม
ที่จำเลยฎีกาว่า จำนวนสินค้าและราคายังคลาดเคลื่อนเป็นอันมานั้น ข้อนี้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย เพราะจำเลยไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไร ที่จำเลยฎีกามาก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๔๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน