คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 895/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักร มีบิดาเป็นคนต่างด้าว และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาแต่ พ.ศ.2491 แล้ว ขณะฟ้องก็ยังถือใบสำคัญดังกล่าวอยู่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 โจทก์จึงเสียสัญชาติไทยไปโดยผลแห่งกฎหมาย
แม้บิดาโจทก์เป็นผู้จัดการขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาให้โจทก์เพื่อไปศึกษายังต่างประเทศ แต่โจทก์ก็ไม่ได้ไป ยังคงถือใบสำคัญต่อมา โจทก์ได้ไปขอเปลี่ยนสมุดใบสำคัญใหม่ใน พ.ศ.2498 ขอต่ออายุใบสำคัญมาจนถึง พ.ศ.2508 อันเป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ขอกลับคืนสัญชาติไทยไม่ได้ผลแล้ว จึงไม่ขอต่ออายุใบสำคัญอีก การได้ใบสำคัญทำให้โจทก์ไม่ต้องเข้าตรวจคัดเลือกเพื่อเป็นทหารได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญเมื่อเข้าทำงานเป็นลูกจ้างสถานทูตแจ้งต่อมหาวิทยาลัยตอนเข้าศึกษาว่าเป็นคนสัญชาติอังกฤษ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์สมัครใจขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเป็นคนสัญชาติอังกฤษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยสั่งเจ้าพนักงานจดทะเบียนแก้สัญชาติของโจทก์ ฯลฯ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวด้วยความสมัครใจไปเป็นคนสัญชาติอังกฤษ โจทก์จึงขาดจากสัญชาติไทย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า โจทก์เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย

จำเลยทั้งสองฎีกา

ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เกิดในประเทศไทย บิดาเป็นคนเชื้อชาติแขกปาทาน สัญชาติอังกฤษ มารดาเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย โจทก์มีภูมิลำเนาและศึกษาเล่าเรียนอยู่ในประเทศไทยตลอดมา เมื่อพ.ศ. 2491 ขณะที่โจทก์อายุ 19 ปี โจทก์ได้ขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเป็นคนสัญชาติอังกฤษ ต่อมา พ.ศ. 2506 โจทก์ขอกลับคืนมาถือสัญชาติไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาตครั้น พ.ศ. 2508 ได้มีพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ออกใช้บังคับ ในมาตรา 21 ได้บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย โดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย” ดังนี้ โจทก์ผู้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดจะเสียสัญชาติไทยไปโดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาแต่ พ.ศ. 2491 แล้วขณะนี้ก็ยังถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้นอยู่ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 โจทก์จึงเสียสัญชาติไทยไปโดยผลแห่งกฎหมาย

ส่วนปัญหาที่ว่า โจทก์สมัครใจขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือไม่นั้น เห็นว่า ถึงจะฟังตามที่โจทก์นำสืบว่าบิดาเป็นผู้จัดการขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาให้โจทก์เพื่อให้ศึกษายังต่างประเทศก็ตาม แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ไป และยังคงถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวต่อมาโจทก์ได้ไปขอเปลี่ยนสมุดใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวใหม่ใน พ.ศ. 2498 ทั้งได้ขอต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาทุกปีจนถึง พ.ศ. 2508 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ขอกลับคืนสัญชาติไทยไม่ได้ผลแล้ว โจทก์จึงไม่ขอต่ออายุใบสำคัญนั้นอีกใน พ.ศ. 2491 โจทก์มีอายุจะครบกำหนดเข้ารับการตรวจคัดเลือกเพื่อรับราชการทหาร การได้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจึงทำให้โจทก์ไม่ต้องเข้าตรวจคัดเลือกเพื่อเป็นทหารแต่อย่างใด ต่อมาโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในสถานทูตออสเตรเลีย โจทก์ได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และเมื่อโจทก์เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โจทก์ก็ได้แจ้งต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ พฤติการณ์ดังกล่าวมานี้ แสดงว่าโจทก์สมัครใจขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเป็นคนสัญชาติอังกฤษ

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์

Share