คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8949/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2(กระทำความผิดวันที่ 1 มิถุนายน 2539)ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมาด้วย ยังไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 ในอันที่จะระวางโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามมาตรา 10 คงปรับบทลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายได้ฐานเดียว ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย และฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,89 ประกอบพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 10 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 1,250 เม็ด คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 20.034 กรัม ไว้ในครอบครองเกินปริมาณ 0.500 กรัมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อขายและขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน1,000 เม็ด ให้แก่ผู้ล่อซื้อในราคาเม็ดละ 55 บาท และจำเลยที่ 1 ได้พาอาวุธปืนพกสั้นขนาด .45 มีหมายเลขทะเบียนของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่แล้วติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดได้ธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยที่ 1ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อขายที่เหลือจากการขายให้แก่ผู้ล่อซื้อจำนวน 250 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยได้ขายให้แก่ผู้ล่อซื้อไปจำนวน 1,000 เม็ด รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนบ – 1442 ตราด อาวุธปืน กระสุนปืน พร้อมซองปืนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ และ 116 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 10, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 ริบเงินสด จำนวน 200 บาท และริบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุข

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง,89, 106 ทวิ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 83 เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและเพื่อขาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่มีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำคุก 36 ปี ฐานพาอาวุธปืนมีเลขทะเบียนของตนเองไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักปรับ 2,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 36 ปี และปรับ 2,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่มีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจำคุก 12 ปี จำเลยที่ 1 รับสารภาพในชั้นสอบสวนและนำสืบรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาเฉพาะความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดนี้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 1,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 36 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข และริบธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ ของกลาง คำขอส่วนอื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (ในขณะกระทำความผิด) ไว้ในครอบครองเพื่อขายและเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

คงวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดยังไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานนี้มิได้อยู่ในความหมายของคำว่า”ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ในอันที่จะระวางโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นตามมาตรา 10 คงปรับบทลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายได้ฐานเดียว ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย และฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประกอบพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share